นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในการประชุมยุทธศาสตร์บริหารจัดการสินค้าเกษตร (เวิร์คชอป) วันนี้ (12 ม.ค.) ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน กรมจะเสนอแนวทางดูแลราคาสินค้าเกษตร เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สามารถวางแผนล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดปัญหาสินค้าเกษตรนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่วนที่จะนำไปใช้เป็นนโยบายระยะยาวของรัฐบาล
"การรับจำนำจะไม่ใช่วิธีการเดียว ที่จะมาใช้ดูแลราคาสินค้าเกษตร เพราะเกษตรกรไม่ได้สนว่าจะใช้วิธีใด แต่เขาสนใจว่าจะขายได้ราคาเท่าไรไม่ใช่ว่าทำหลายเดือนพอถึงเวลาขายราคาตก" นายยรรยงกล่าว
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่จะนำเสนอ ได้แก่ การประกันความเสียหายพืชเกษตร จะมีทั้งส่วนที่เป็นการประกันความเสียหายต่อเกษตรกร อาทิเช่น ความเสียหายต่อผลผลิต ราคาในตลาดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่วนการประกันความเสียหายพ่อค้า อาทิเช่น การประกันกรณีราคาตลาดตก ทำให้พ่อค้าต้องแบกสต็อกไว้นานกว่าที่กำหนด
นายยรรยง กล่าวว่า ยุทธศาสตร์จะครอบคลุมถึงการนำระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาใช้ ในการบริหารจัดการมากขึ้น อาทิเช่น การเพิ่มจำนวนสินค้าเกษตรที่จะเข้าไปค้าในตลาด การปรับระบบให้คล่องตัวมากขึ้น แผนเตือนภัยล่วงหน้า ผ่านระบบติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดจากโอปอเรชั่นรูม ที่สามารถพยากรณ์ทิศทางสินค้าเกษตรนั้นๆ 4 -5 เดือนล่วงหน้า
"ระบบนี้หากราคาสินค้าเกษตรเริ่มตกต่ำ จะแจ้งให้เกษตรกรทราบ หากตกต่ำมากขึ้น รัฐจะมีแผนดูแลระดับหนึ่ง และหากราคาต่ำถึงที่สุด จะนำมาตรการใดมาใช้ ซึ่งจะมีแผนอย่างชัดเจน โดยประเมินจากราคาตลาดกับปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรนั้นๆ เป็นการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงรุก รวมทั้งแผนการสร้างไซโล ยุ้งฉาง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์"
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ต้องใช้หลายเครื่องมือในการดูแล เห็นด้วยหากรัฐจะนำวิธีแทรกแซงสินค้าเกษตรแบบประกันมาใช้
ส่วนการดูแลสินค้าข้าว ไม่ควรให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแลเฉพาะ ต้องอาศัยเครือข่ายที่ครอบคลุมเกษตรกรได้ทั้งหมด และหลายหน่วยงานดูแลจะสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้
ส่วนการบริหารสต็อกข้าวของรัฐนั้น รัฐควรนำการขายข้าวผ่านรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจัดการสต็อกข้าวเกือบ 5 ล้านตัน ซึ่งอาจขาดทุนบ้าง เพราะราคาสูงกว่าเวียดนามถึงตันละ 150 ดอลลาร์ หากต้องการชนะการประมูล คงต้องขายราคาต่ำกว่าตลาด
"ปีนี้ราคาตลาดโลกจะทรงตัว แต่การแข่งขันของผู้ส่งออกข้าวจะสูงมาก เพราะหลายประเทศผลผลิตดี อย่างเวียดนาม ผลผลิตใหม่จะออกในเดือน มี.ค.นี้ ทั้งปีเวียดนามส่งออก 5-5.5 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อน หากไทยจะรอให้เวียดนามขายหมดก็ไม่รู้เมื่อไรจะหมด โดยรวมคาดว่าไทยจะส่งออกเดือนละ 6 แสนตันลดลงจากปีก่อนที่ส่งออก 8 แสนตันต่อเดือน ขณะนี้ การซื้อขายเบาบางมาก น่าเป็นห่วงเรื่องความสามารถการแข่งขัน"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|