เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกข้าวอย่างน้อย 5 ราย ได้แก่ บริษัทพงษ์ลาภ, บริษัทเจียเม้ง, บริษัทนครหลวงค้าข้าว, บริษัทข้าวไชยพร และบริษัทเอเชียโกล เด้นท์ไรซ์ ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อขอทราบความชัดเจนกรณีที่ อคส.ให้ชะลอการออกตั๋วชำระเงินรับมอบข้าวที่บริษัทชนะการประมูลทั้ง 2 ลอต โดยคาดว่ามีปริมาณข้าวที่เหลือจากการรับมอบลอตที่ 1 ประมูลเดือนตุลาคมประมาณ 400,000-500,000 ตัน จากปริมาณที่รัฐบาลขาย 1.5-1.6 ล้านตัน กับข้าวลอตที่ 2 ประมูลเดือนพฤศจิกายนเหลือ 900,000 ตันจากปริมาณ 1.2 ล้านตัน
โดยการขอชะลอส่งมอบข้าวครั้งนี้ทาง อคส.ให้เหตุผลว่า ได้รับคำสั่งอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรจาก "เจ้ากระทรวงพาณิชย์" ให้ชะลอชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบการประมูลข้าวทั้ง 2 ลอตที่เปิดประมูลและเซ็นสัญญาขายข้าวในปลายสมัยของนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่จะพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน โดยคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้จะมีนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
ผลจากการชะลอการส่งมอบข้าวดังกล่าว จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนก่อนได้เร่งประมูลข้าวทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเตรียมเงินและโกดังสำหรับสต๊อกข้าวนาปีที่กำลังจะเข้าสู่โครงการรับจำนำปี 2551/52 การส่งมอบข้าวล่าช้าย่อมทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาล อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าใครต้องการตรวจสอบการประมูลข้าวทั้ง 2 ลอตและต้องการตรวจสอบจากสาเหตุอะไร จึงมีการตั้งข้อสังเกตในวงการค้าข้าวว่า อาจจะมีการเรียกรับ "ประโยชน์" จากการขายข้าวลอตนี้ซ้ำซ้อน เพราะการรวบรัดขายข้าวในสมัยนายไชยา สะสมทรัพย์ ก็มีพิรุธเพราะเร่งขายก่อนวันตัดสินคดียุบพรรคเพียง 1 วัน และทำให้รัฐบาลขาดทุนรวมอย่างน้อย 20,000-30,000 ล้านบาท
ส่วนผลเสียต่อผู้ส่งออกและตลาดข้าวนั้น จะทำให้ผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่นเพราะไม่ได้รับมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้ส่งออกไม่สามารถไปซื้อข้าวใหม่จากท้องตลาดมาส่งออกแทนได้ เพราะตามสัญญากำหนดคุณภาพข้าวเป็นข้าวเก่าที่ประมูลจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าปรับต่อ อคส. หากรับมอบไม่ตรงตามระยะเวลาในสัญญาซึ่งกำหนดให้รับมอบภายใน 1-6 เดือนแล้วแต่ปริมาณข้าว โดยลอตแรกมีกำหนดรับมอบสิ้นสุดภายในเดือนมีนาคม 2552 ลอต 2 ต้องรับมอบข้าวให้เสร็จภายในพฤษภาคม 2552 และยัง "เสี่ยง" ที่จะถูกลูกค้ายึดบอนด์ค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าวที่ทำสัญญาซื้อขายกัน ค่าใช้จ่ายกรณีส่งสินค้าลงเรือใหญ่ล่าช้า และดอกเบี้ยในการออกหนังสือกับธนาคาร เพื่อมาจ่ายค่าข้าว
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ทำหนังสือไปที่ อคส. เพราะได้ซื้อข้าวจากรัฐบาลปริมาณรวม 365,373,628.56 ตัน ทำสัญญาแล้ว 5 สัญญา จึงต้องรีบรับมอบข้าวด่วน เพราะได้ตกลงทำสัญญาขายข้าวให้ลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก หาก อคส.ไม่รับเงินค่าข้าว และส่งมอบข้าวทางบริษัทจะเสียหายส่งข้าวให้ลูกค้าล่าช้า อาจจะต้องคิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในการส่งมอบข้าวล่าช้า
"ขั้นตอนคือ ต้องทำสัญญาภายใน 7 วัน และเอาเลขสัญญาไปออกใบ P/O กับธนาคารเอาเงินมาจ่าย แต่เมื่อ อคส.ไม่รับ แต่เรือมารอแล้ว ทาง อคส.กลับอ้างคำสั่งที่เป็นคำพูด ไม่รู้ว่าใครเป็นคนที่ออกคำสั่ง แต่เราเสียหายกระทบต่อสัญญาที่ทำกับลูกค้าแอฟริกา เพราะการประมูลข้าวก่อนจะเอาข้าวออกต้องเร่งไปขายล่วงหน้า รัฐบาลก็รู้ว่าออร์เดอร์ข้าวหายากขนาดไหน เพียงเดือนก่อนภาพรวมการส่งออกลดลงจาก 1 ล้านเหลือ 400,000-500,000 ตัน การทำอย่างนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ว่ารัฐบาลเปิดประมูลแล้วยังเบี้ยวผู้ส่งออก แล้วข้าวไทยจะน่าเชื่อถือหรือ ข้าวเวียดนามซื้อง่ายขายต่ำกว่าไทยเป็น 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน ข้าวเรา 500 เหรียญสหรัฐ เวียดนามแค่ 380 เหรียญสหรัฐเท่านั้น"
แหล่งข่าวจากบริษัท เจียเม้ง จำกัด เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือ อคส.เช่นกัน เพราะได้ทำสัญญาซื้อข้าว 1 สัญญา เป็นข้าวหอมมะลิ 260 ตัน กับข้าวขาว 5% ปริมาณ 24,100 ตัน ซึ่งตามสัญญากำหนดให้ชำระเงินและรับมอบข้าวส่วนที่ไม่เกิน 20,000 ตันภายใน 30 วันหรือ 10 มกราคม 2552 และที่เหลืออีก 4,157 ตันภายใน 10 กุมภาพันธ์ 2552 ไม่เช่นนั้นต้องรับผิดชอบค่าปรับจากการรับมอบล่าช้าอีกวันละ 0.2% ของมูลค่าข้าวที่ค้างรับมอบ และต้องชำระค่าคลังสินค้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เอง
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ บริษัทยื่นชำระและขอออกข้าวในวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ อคส.แจ้งด้วยวาจาว่า มีคำสั่งให้ระงับการออกข้าวชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกข้าวได้ตามสัญญา ซึ่งไม่ใช่ความผิดของบริษัทจะทำอย่างไร เพราะบริษัทก็ไม่มีข้าวส่งมอบให้ลูกค้า ในต่างประเทศที่ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ เพราะในเงื่อนไข อคส.กำหนดให้ต้อง ส่งออกเท่านั้นด้วย ดังนั้น อคส.ควรพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลารับมอบได้หรือไม่ และงดการจ่ายค่าปรับต่างๆ เพราะไม่ใช่ความผิดของบริษัท"
ทางด้านบริษัทนครหลวงค้าข้าวก็ได้ยื่นโนติ๊สต่อ อคส.เช่นกัน เพราะต้องเร่งส่งมอบข้าวให้ลูกค้า และเห็นว่าเรื่องนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ควรแสดงความรับผิดชอบโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อประเทศ
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นหารือในสมาคม แต่ทางสมาคมต้องการให้เอกชนคู่สัญญาแต่ละรายดำเนินการก่อน หากยังไม่สำเร็จอาจจะต้องทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์และทางสภาหอการค้า เพื่อขอให้ได้รับความเป็นธรรม
ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทในการดูแลการส่งออกและสินค้าข้าว ให้คำตอบต่อเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบได้ตั้งก่อนที่ตนจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 26 ธันวาคมและตนได้รับทราบแล้วจึงมอบนโยบายให้ตรวจสอบโดยโปร่งใส แต่ไม่ได้ระบุถึงระยะเวลาการตรวจสอบ ส่วนการมอบนโยบายด้านข้าวก็ให้เตรียมตั้งทีมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้าวพิเศษขึ้นมาดูแลงานข้าวครบวงจรภายใน 1 เดือนเท่านั้น
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมเห็นด้วยกับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ชะลอการรับมอบข้าวจากการประมูลครั้งที่ 2 ไว้ก่อน เพราะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดปรับสูงขึ้นทันทีภายในสัปดาห์เดียว
"ตัวแทนสมาคมจะเข้าร่วมประชุมเวิร์กช็อปกับนางพรทิวา นาคาศัย รมว. พาณิชย์วันที่ 12 มกราคมนี้ เพื่อแสดงความเห็นด้วยกับการชะลอส่งมอบข้าวและขอให้นำข้าวดังกล่าวไปประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|