นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นกรณีการเปิดตลาดข้าวภายใต้พันธกรณี AFTA จัดขึ้นที่ห้องประชุมอาคารศูนย์การศึกษา และฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ว่า การเปิดตลาดข้าวภายใต้กรอบ AFTA ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้ทำข้อตกลงไว้ตั้งแต่ปี 2535 ว่า จะเปิดเสรีสินค้าเกษตรและข้าว ภายใน 1 ม.ค.2553 ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเกษตรได้รับการยกเว้นภาษีเหลือ 0% และมีการยกเลิกระบบโควตานำเข้า ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวจะทยอยลดภาษีไม่เกิน 20%
อย่างไรก็ตามยังกังวลว่า เมื่อเปิดเสรีโดยไม่มีมาตรการรองรับ สินค้าเกษตรจากต่างประเทศ จะทะลักเข้ามาจนมีผลกระทบ จึงเสนอเปิดการค้าเสรี โดยมีมาตรการดูแลไม่ให้สินค้าเกษตรของประเทศในอาเซียนทะลักเขามามากเกินไป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่รัฐบาลเปิดรับจำนำในราคาที่สูง เพราะเกรงจะมีการสวมสิทธิ
ทั้งนี้กรมได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรทั่วประเทศ ก่อนจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อหามาตรการรองรับการเปิดเสรีต่อไป
"ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ปลูกเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศตนเอง หากเหลือจึงส่งออก ยกเว้นเวียดนาม ที่เขามีเป้าหมายในการส่งออกชัดเจน โดยเวียดนามต้องการเป็นผู้ส่งออกข้าวติดอันดับโลก เพื่อแย่งตลาดของไทยมากกว่า จึงไม่น่าเป็นห่วง" นางสาวชุติมา กล่าว
ส่วนมาตรการบรรเทาผลกระทบรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุน FTA ช่วยเหลืออยู่แล้ว เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มเขียนโครงการเข้ามาขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนได้ แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีเกษตรกรเข้ามาขอความช่วยเหลือจากการทุน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ผัก - ผลไม้ ระหว่างไทยและจีน ในปี 2551 ที่ผ่านมากองทุน มีงบประมาณอยู่ 340 ล้านบาท แต่มีผู้ได้รับผลกระทบขอใช้วงเงินเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น
นายสมาน ทัดเที่ยง ตัวแทนเกษตรกร จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยโดดเด่นเรื่องการปลูกข้าว มีการปลูกข้าวเป็นวัฒนธรรมประเพณีมายาวนาน ก่อนเปิดเสรีการค้า ทุกประเทศมุ่งมาที่ไทย ดึงนักวิชาการไปช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย ลักลอบนำพันธุ์ข้าวไทยไป การเปิดเสรี หวั่นว่าจะมีข้าวนอกประเทศ ทะลักเข้ามา เพราะราคารับจำนำในประเทศสูง
ด้าน นายสัญญา กิติยะ ตัวแทนเกษตรกร จ.แพร่ กล่าวว่า ถ้าเปิดเสรีข้าวจะกระทบกับกลไกในประเทศ หากควบคุมปริมาณนำเข้าไม่ได้ จะกระทบต่อราคาข้าวในประเทศเพราะปัจจุบันจะเห็นการสวมสิทธิโครงการรับจำนำอยู่
"เกรงว่าหากเปิดเสรี จะยิ่งทำให้ข้าวจากต่างประเทศทะลักเข้ามามากและถ้าเปิดเสรีข้าว เชื่อว่าอุตสาหกรรมในประเทศ จะเลือกใช้ของถูกแทน" นายสัญญา กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |