นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับแจ้งจากผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เสนอที่จะลดภาษีนำเข้าข้าวให้ไทย ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) เหลือ 5% แต่จะกำหนดโควตานำเข้าให้แค่ 50,000 ตัน เพื่อชดเชยกรณีที่ฟิลิปปินส์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงการลดภาษีภายใต้อาฟตาได้ แต่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ เพราะต้องหารือกับรัฐบาลก่อน รวมทั้งต้องดูผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นก่อน
"ยังไม่ได้ตอบตกลงที่จะรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ คงต้องหารือกับนายกรัฐมนตรีก่อนว่า จะมีท่าทีอย่างไรยอมรับได้หรือไม่ เพราะถือว่าฟิลิปปินส์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดเสรีภายใต้กรอบอาฟตา ทำให้ไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์" นางพรทิวากล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์ เป็น 1 ใน 3 ประเทศที่ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการเปิดเสรีอาฟตา ได้ยื่นข้อเสนอตารางการลดภาษี โดยจะคงอัตราภาษีสินค้าข้าวที่ 40% ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2557 ลดลงเหลือ 35% ในปี 2558 แต่ไทยไม่สามารถรับได้ เพราะอัตราภาษีสุดท้ายยังสูงกว่าอาเซียนอื่น ที่จัดสินค้าข้าวไว้ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง อย่างมาเลเซียจะลดภาษีเหลือ 20% ในปี 2553
ส่วนอินโดนีเซียจะลดเหลือ 25% ในปี 2558 ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย ได้ยืนยันท่าทีไปว่า ไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ได้ และได้แจ้งท่าทีเบื้องต้นของฟิลิปปินส์กลับมาในเดือน ส.ค. 2552 โดยฟิลิปปินส์เพิ่งตอบกลับมาเมื่อเร็วๆ นี้ จะขอลดภาษีข้าวจากไทยเหลือ 5% และกำหนดโควตานำเข้าเพียง 50,000 ตันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) และคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา เคาน์ซิล) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2552 ที่กรุงเทพฯ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้าอ่อนไหวสูงตามที่ผูกพันไว้ เพราะหลายประเทศยังไม่ลดภาษีได้ตามที่กำหนด ทำให้การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อาจต้องล่าช้าออกไปจากเป้าหมายในปี 2558 ทำให้อาเซียนมีปัญหาระหว่างกันได้ เพราะจะมีการเรียกร้องให้ชดเชยผลประโยชน์หรือฟ้องร้อง หรือตอบโต้ทางการค้า ซึ่งไทยได้เจรจาขอให้ฟิลิปปินส์ชดเชยให้ไทยกรณีนี้
ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นข้อเสนอไปยังฟิลิปปินส์ ให้กำหนดโควตานำเข้าข้าวให้ไทยปีละ 400,000 ตัน ภาษี 5% หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงอาฟตาได้
สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ยังมีปัญหาการลดภาษี คือ อินโดนีเซีย มีข้าว และน้ำตาล โดยข้าวจะลดภาษีนำเข้าเหลือ 25% ในปี 2558 น้ำตาล ลดจาก 30-40% เป็น 5-10% ในปี 2558 มาเลเซีย มีข้าว ที่จะลดจาก 40% เป็น 20% ในปี 2553 ส่วนสินค้าอ่อนไหวอื่นๆ อาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน) จะลดเหลือ 0-5% ในปี 2553 ยกเว้นอาเซียนใหม่ (พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม) ที่จะช้าออกไปโดยไทยมีสินค้าอ่อนไหว 7 รายการ
ผลจากการที่ทั้ง 3 ประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงทำให้ไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทั้งข้าวและน้ำตาล จะได้รับผลกระทบทันที เพราะจะส่งสินค้าเข้าไปขายได้ใน 3 ประเทศได้ลำบากขึ้น โดยเฉพาะกรณีน้ำตาลของอินโดนีเซีย เดิมไทยเคยเป็นผู้ครองตลาดอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันได้เสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศอื่น ที่ผ่านมา ไทยได้เจรจาชดเชยความเสียหาย และอินโดนีเซียได้ยอมเปิดตลาดข้าวให้ไทยเพิ่มขึ้น และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับฟิลิปปินส์และมาเลเซีย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |