นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (13 มี.ค.) เห็นชอบกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูผลิตปี 2552/2553 เท่ากับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูผลิตปี 2551/2552 โดยข้าวเปลือกเจ้า 100% ราคา 12,000 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคา 11,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10% ราคา 11,600 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 15% ราคา 11,200 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเจ้า 25% ราคา 10,800 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10% ราคา 9,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,400-12,000 บาทต่อตัน
รายงานข่าว ระบุว่า ข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% สามารถทำเป็นข้าว 10% บางส่วนขณะที่ข้าวขาว 100% ส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปีมากกว่า ขณะที่ข้าวเหนียวนาปรังก็มีปริมาณไม่มากเช่นเดียวกัน
นางพรทิวา กล่าวว่า กขช.กำหนดเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552/2553 ไว้ที่ 2.5 ล้านตัน ระยะเวลา 4 เดือน เริ่มวันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค. 2552 คาดใช้งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยนำมาจากเงินกู้โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว หากไม่เพียงพอกระทรวงการคลังจะเจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอกู้เงินเพิ่ม ขณะที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิจำนำไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อราย คิดเป็นพื้นที่ 30-35 ไร่
"กระทรวงพาณิชย์เสนอว่า ควรกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ไว้ที่ 12,000 บาทต่อตัน แต่ที่ประชุมเห็นว่าควรลดเหลือ 11,800 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาเท่าปีก่อน ซึ่งเราก็เห็นด้วย และกำไรที่ชาวนาจะได้รับจากราคาข้าวเปลือกที่ 12,000 บาทต่อตัน จะอยู่ที่ 70% ส่วนที่สมาคมชาวนาเสนอราคาที่ 13,000 บาทต่อตัน และอ้างว่าผลผลิตมีน้อยนั้น ปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังคงลดไม่มาก เพราะน้ำยังอุดมสมบูรณ์ดี" นางพรทิวากล่าว
สั่งแบล็คลิสต์เกษตรกร-โรงสีทุจริต
การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดแนวทางป้องกันการสวมสิทธิไว้แล้ว และมีมาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาดดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยมีโทษห้ามเกษตรกรหรือโรงสีที่ทุจริตเข้าร่วมโครงการอีก นอกจากนี้ เกษตรกรเสนอให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เกษตรกรมีเวลาปรับตัวและแข่งขันได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วย
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กขช.รับทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ให้สิทธิซื้อขายข้าวเปลือกแก่เกษตรกรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ตลาดเอเฟท) ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ แทนที่จะอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง เพราะมีความพร้อมทั้งด้านข้อมูล ใกล้ชิดเรื่องค้าขายมากกว่า รวมทั้งมีวอร์รูมติดตามเรื่องข้าวโดยเฉพาะ
พาณิชย์ชงราคารับจำนำ 12,000 บาท/ตัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาดได้เสนอที่ประชุม กขช. ให้กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 5% ที่ราคา 12,000 บาทต่อตัน เพิ่มจากราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูผลิตปี 2551/2552 ที่ราคา 11,800 บาทต่อตัน อีก 200 บาทต่อตัน เพราะผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอากาศหนาวและแห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลงจาก 800 กก. เหลือ 400 กก. ทั้งนี้ คณะกรรมการเห็นว่าผลผลิตปีนี้ไม่น่าลดลงมาก และไม่ต้องการให้ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง สูงกว่าราคาข้าวเปลือกนาปี ดังนั้น กขช.จึงเห็นควรกำหนดราคาข้าวเปลือกนาปรังปีนี้ให้เท่ากับราคาปีก่อน
เผยเกษตรกรฟันกำไร 5.2 พันบาทต่อตัน
ราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังที่ 12,000 บาทต่อตันนั้น จะทำให้เกษตรกรมีกำไรตันละ 5,206 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นรายได้ที่ทำให้เกษตรกรดำรงชีพได้ดีขึ้น แต่อาจกระทบตลาดในประเทศและส่งออก รวมทั้งทำให้รัฐบาลต้องใช้งบดำเนินการสูง และอาจมีสต็อกมากขึ้น
ขณะที่ ธ.ก.ส.คาดว่าหากรับจำนำที่ราคา 12,000 บาทต่อตัน จำนวน 2.5 ล้านตัน วงเงินรับจำนำจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และรัฐต้องเสียค่าชดเชยดอกเบี้ย 1,900 ล้านบาท และค่าบริหารโครงการอีกกว่า 900 ล้านบาท
ชาวนาโวยรัฐโกหกขู่ยกม็อบบุกพาณิชย์
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า มติ กขช.อนุมัติเปิดโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2552/2553 ปริมาณ 2.5 ล้านตัน โดยกำหนดราคารับจำนำข้าว 5% ที่ตันละ 11,800 บาท และให้จำนำรายละไม่เกิน 3.5 แสนบาทนั้น เป็นมติที่สมาคมไม่สามารถยอมรับได้ เพราะไม่เป็นไปตามที่สมาคมกับกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และแถลงข่าวร่วมกัน เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
การหารือครั้งนั้น กระทรวงพาณิชย์เสนอราคารับจำนำข้าว 5% ไว้ที่ตันละ 12,000 บาท และให้เกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการ รายละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งสมาคมไม่ได้ต่อรองใดๆ แต่เมื่อผลสรุปของ กขช.ไม่เป็นไปตามนั้น แสดงว่ากระทรวงพาณิชย์โกหก การหารือร่วมกับสมาคมไม่ได้มีความหมายอะไรเลย หากสุดท้ายผลสรุปไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้
"ราคาข้าวตันละ 11,800 บาทนั้น ชาวนารับได้ แต่หากจะให้ราคาแค่นี้ ก็ควรบอกไว้แต่ต้น ไม่ใช่หยอดคำหวานจะให้เพิ่มอีก 200 เป็น 12,000 บาท ทำให้ชาวนาดีใจเล่น เหมือนไม่ให้เกียรติกัน เรื่องนี้ชาวนายอมไม่ได้ และจะยกขบวนไปเรียกร้องที่กระทรวงพาณิชย์แน่" นายประสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีราคาข้าวขาว 100% ที่กำหนดราคาไว้สูงมาก ประมาณ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะผลผลิตข้าว 100% ของไทยมีน้อยมากในข้าวนาปรัง และส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
ผู้ส่งออกซัดจำนำราคาสูงเกินแข่งยาก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่อนข้างผิดหวังที่ กขช. มีมติกำหนดรับจำนำข้าวที่ตันละ 11,800 บาท ไม่ต่างจากมติของคณะอนุกรรมการด้านราคา กขช. ที่มีมติให้รับจำนำตันละ 12,000 บาท ให้ราคาแบบนี้สู้ให้ตันละ 12,000 บาทไปเลยจะดีกว่า และราคาดังกล่าว ไม่มีผลช่วยให้การส่งออกแข่งขันได้ เนื่องจากเป็นราคารับจำนำ ที่ทำให้ต้นทุนการส่งออกเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ราคาของไทยยังสูงมาก โดยราคาที่ผู้ส่งออกเสนอควรจะอยู่ที่ตันละ 11,000 บาท
"รัฐบาลเองก็รู้ว่าผู้ส่งออกแข่งขันลำบากในการจำนำข้าวราคาสูง ทำให้ราคาส่งออกห่างจากเวียดนามมาก ในภาวะเช่นนี้ส่งออกได้ลำบาก และช่วงต่อไปอินเดียจะเข้าสู่ตลาดอีก ยิ่งทำให้ช่วงครึ่งปีหลังมีการแข่งขันที่ยากลำบากมากขึ้น" นายชูเกียรติกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |