นายจิม โรเจอร์ส นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง และประธานกรรมการบริหารโรเจอร์ส โฮลดิ้งส์ แสดงความเห็นวานนี้ (14 ต.ค.) ว่า ราคาข้าว และฝ้ายจะพุ่งขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามการเฟื่องฟูของราคาสินค้าเกษตรประเภทอื่นๆ เพราะปริมาณสินค้าสำรองลดลง ทั้งยังเจอกับอุปสรรคด้านการผลิตอีกมากมาย
"หากเราเริ่มมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอากาศ หรือปัญหาเรื่องการผลิต ราคาข้าวก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในทศวรรษหน้า แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ผมไม่รู้ ผมรู้แต่เพียงว่าใกล้จะถึงเวลาแล้ว" นายโรเจอร์สกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังรายนี้ ชี้ว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณข้าวสำรองทั่วโลกปรับตัวลดลง และผลผลิตข้าวในอินเดียหดตัวลง และว่าปัญหาเรื่องการผลิตข้าวกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะที่เปราะบางมาก โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตข้าวตกต่ำในอินเดีย
"ผมคาดว่าการจัดหาข้าวทั่วโลกกำลังตึงตัว ในขณะที่ผลผลิตกำลังลดลง เพราะเหตุผลต่างๆ นานัปการ รวมถึงการที่เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถขยายผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูก ผลพวงที่ตามมาคือผลผลิตตกต่ำ" นายโรเจอร์สซึ่งเคยคาดการณ์ไว้อย่างถูกต้องว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มแพงขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ระบุ
เมื่อปีที่แล้ว ราคาข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง ทะยานขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความกังวลในเรื่องการผลิตไม่ทันกับความต้องการ ก่อให้เกิดเหตุวุ่นวายในทั่วทุกมุมโลก
นายโรเจอร์ส กล่าวด้วยว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่ยิ่งใหญ่อย่างมาก ในการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร โดยความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพ อาจทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชประเภทข้าวโพด และพืชที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงอื่นๆ แทนการปลูกฝ้าย ซึ่งจะกลายเป็นแรงหนุนให้ราคาเส้นใยประเภทนี้พุ่งสูงตามไปด้วย
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายฌาร์ก ดิอูฟ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหาร และเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) แห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารโลก จะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างพื้นฐานของระบบตลาดสินค้าเกษตร
นายดิอูฟ ประเมินว่า ปริมาณการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะไต่ระดับขึ้นเกือบ 90% ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 192,000 ลิตร ภายในปี 2561
ในการประชุมอาหารโลกที่กรุงโรม ซึ่งเริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อวันจันทร์ (12 ต.ค.) นายดิอูฟ ระบุด้วยว่า โลกจำเป็นต้องมีผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 70% ภายในปี 2593 รองรับจำนวนประชากรทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,100 ล้านคน จากระดับ 6,700 ล้านคน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการเกษตรโลกต้องหาทางรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงขึ้น อย่างน้ำท่วม และภาวะแห้งแล้ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |