www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พณ.จ่อไฟเขียวรับจำนำข้าวข้ามเขต วงในจับตา'พรทิวา'ตามรอย ไชยา


แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆนี้โรงสีข้าวทั่วประเทศได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงานการค้าภายในจังหวัด ให้โรงสีที่มีความประสงค์จะรับจำนำข้าวข้ามเขต คือนอกพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงสี ยื่นความจำนงได้ที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัด ส่วนการจะอนุมัติให้ทุกรายหรือไม่ หรือเป็นรายๆ ไป ทางจังหวัดจะนำเสนอเพื่อหารือกับอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาอีกชั้นหนึ่ง

เวลานี้โรงสีหลายจังหวัดแสดงความจำนงเพื่อขอรับจำนำข้าวข้ามเขตกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวในพื้นที่ไม่เพียงพอ หากไม่ไปเปิดจุดรับจำนำจากจังหวัดอื่นโรงสีก็ไม่มีงานทำ อย่างไรก็ดีหากต้องมีการจ่ายค่าข้ามเขตในอัตราเดียวกับสมัยนายไชยา สะสมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ที่มีการลือกันสะพัดทั่ววงการว่าต้องจ่ายค่าจำนำข้ามเขต สำหรับ 3,000 ตันแรก 500,000 บาท มากกว่านี้ตันละ 180 บาท โรงสีหลายโรงอาจจะไม่ไปรับจำนำข้ามเขต

ทั้งนี้เนื่องจากการการอนุญาตข้ามเขตสมัยนายไชยา เป็นการข้ามเขตจากภาคกลางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เพราะขณะนั้นเป็นการจำนำข้าวนาปีที่มีผลผลิตหอมมะลิออกสู่ตลาด โรงสีที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปจำนำข้าวภาคอีสานจะนำข้าวหอมมะลิที่รับจำนำไปสีขายท้องตลาด แต่ซื้อข้าวหอมปทุมธานีซึ่งมีราคาถูกกว่าสีแปรเป็นข้าวสารส่งมอบเข้าโกดังกลาง กินกำไรส่วนต่างของราคาข้าวหอมมะลิและข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 1,000-2,000 บาท จึงยอมจ่าย

"เหตุที่รับจำนำข้ามเขตสำหรับนาปรัง หากมีการเรียกเก็บอัตราสูงโรงสีอาจไม่ยอม เพราะไม่มีส่วนต่างที่โรงสีจะทำกำไรได้ แต่โรงสีทุกโรงประสงค์จะจำนำข้ามเขต เพราะปริมาณข้าวในพื้นที่มีไม่เพียงพอ ถ้าไม่ไปจำนำข้ามเขตทำให้โรงสีไม่มีงานทำ ซึ่งโรงสีที่มีการกีดขวางและเปิดศึกแย่งข้าวกันมากที่สุด เช่นจังหวัดสุพรรณบุรีกับจังหวัดอ่างทอง เพราะจังหวัดสุพรรณบุรีโรงสีมีจำนวนมากแต่ปริมาณข้าวน้อย ขณะที่จังหวัดอ่างทองโรงสีมีน้อยแต่ไม่ต้องการให้โรงสีจังหวัดอื่นไปแย่งข้าว"

อย่างไรก็ดีข้อมูลกรมชลประทานรายงาน ว่ากรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้รวมกันทั้งประเทศ 13.19 ล้านไร่ ล่าสุด(3 เม.ย.52) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 14.20 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง 9.55 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่-พืชผัก 0.59 ล้านไร่ และอื่นๆ อีกประมาณ 3.73 ล้านไร่ ทั้งนี้ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ทั้งสิ้น 7.07 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.57 ล้านไร่ แยกเป็น พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 6.18 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.08 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ 1 ล้านไร่

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นผลผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคกลางยังมีปริมาณที่จะออกสู่ตลาดอีกมาก

สำหรับความคืบหน้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 ซึ่งเริ่ม 16 มีนาคม 255 และสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป้าหมายรับจำนำ 2.5 ล้านตัน ถึงวันที่ 8 เมษายน 2552 มีปริมาณข้าวเข้าสู่โครงการแล้ว 872,214 ตัน เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำ 69,178 ราย

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.