www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ทรัพย์สินทางปัญญาจี้ยุโรป รับรองข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ


นางปัจฉิมา ธนสันติ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ในการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ไปแล้วทั้งหมด 30 คำขอ โดยเป็นของคนไทย 25 คำขอ และต่างประเทศอีก 5 คำขอ

ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วหลายรายการ ทั้งข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ข้าวฮางหอมทางสกลทวาปี ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ ล่าสุดคือ ข้าวเหนียวเขาวงของ จ.กาฬสินธุ์ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้ยื่นขอไปแล้วและอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็คือ ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท จ.ขอนแก่น

นอกจากการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยแล้ว ทางกรมฯ ก็ได้ยื่นจดส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในประชาคมยุโรป (European Community หรือ EC) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 12 ประเทศ โดยได้ทำการยื่นจดจีไอไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ในการพิจารณาของประชาคมยุโรปจะใช้เวลา 2 ปี แต่ล่าสุดทางอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำหนังสือไปยังประชาคมยุโรป โดยขอเร่งรัดคำขอ ซึ่งอยากจะให้การพิจารณาเสร็จสิ้นภายในปีนี้

"หากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งมีแหล่งผลิตในเขตพื้นที่ทุ่งกุลา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร และ ศรีสะเกษ ได้รับการจดจีไอในประชาคมยุโรป ข้าวหอมมะลิของไทยก็จะมีสิทธิติดตราหรือแบรนด์ของประชาคมยุโรป ก็จะเป็นที่ยอมรับของตลาด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ไทยจะสามารถส่งออกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ ไปจำหน่ายยังยุโรปได้ทันที"

นางปัจฉิมา ยังระบุด้วยว่า การที่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้ตราประชาคมยุโรปมา โอกาสในการส่งออกและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ก็จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ ข้าวหอมมะลิมีการรับจำนำราคา ซึ่งสูงกว่าราคาตามท้องตลาด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็จะทำให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวจีไอน้อย เพราะราคาไม่แตกต่างกันมากนัก แต่คาดว่าหากได้จีไอประชาคมยุโรปมาแล้ว เชื่อว่าเกษตรกรจะหันมาปลูกข้าวจีไอมากยิ่งขึ้น

นายสิทธิพร บางแก้ว พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า การยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในประชาคมยุโรป หากได้รับขึ้นทะเบียนแล้ว

คาดหวังว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อมีการรับรองแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้แท้ๆ ก็ถือว่าเป็นจุดขายอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าจะสามารถยกระดับราคาให้เพิ่มสูงขึ้น เพราะเท่าที่มีการเจรจากับประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป หากขึ้นทะเบียนจีไอข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ ในประชาคมยุโรป และไทยสามารถส่งข้าวให้ตามปริมาณที่ต้องการ ทางผู้นำเข้าจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าในราคา 100-200 บาท/ตันข้าวเปลือกเจ้า นายสิทธิพร กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.