เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย พร้อมตัวแทนชาวนา ประมาณ 10 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ใหม่
กลุ่มชาวนาอ้างว่า เดิมอนุกรรมการข้าวแห่งชาติ มีมติให้รับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 5% ความชื้น 15% ราคาตันละ 12,000 บาท และจะเพิ่มให้ชาวนาอีกตันละ 200 บาท แต่ปรากฏว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ขอเปลี่ยนมติกลางวงประชุม โดยให้ลดราคาจำนำเหลือ 11,800 บาท และลดวงเงินเกษตรกรจำนำได้ไม่กิน 3.5 แสนบาท จาก 5 แสนบาท ส่งผลให้ชาวนาจำนำข้าวได้น้อยลง ต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลางราคาไม่เป็นธรรม จึงเสนอให้รัฐบาลยืนวงเงิน 5 แสนบาท เหมือนเดิม ทั้งนี้ได้กำหนดเวลาให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ และจะมารับฟังคำตอบในวันที่ 17 มี.ค. หากไม่เป็นที่น่าพอใจจะมีวิธีการเรียกร้องของตัวเองต่อไป
แหล่งข่าวจาก คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวว่า สาเหตุที่ กขช.กำหนดวงเงินรับจำนำนาปรังปี 2552 ต่อคน ไม่เกิน 3.5 แสนบาท เนื่องจากราคารับจำนำในโครงการปีนี้ ลดลงจากตันละ 1.4 หมื่นบาท เหลือตันละ 1.18 หมื่นบาท ทำให้ต้องปรับลดวงเงินรับจำนำรวมลงตามสัดส่วน และส่วนใหญ่ชาวนามีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 30 ไร่ พิจารณาแล้วเห็นว่าวงเงิน 3.5 แสนบาท เหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ การกำหนดวงเงินดังกล่าว จะช่วยป้องกันการสวมสิทธิ เพราะวงเงินที่สูงเกินไป เป็นโอกาสให้ชาวนาหนึ่งรายสามารถนำข้าวที่ไม่ใช่ของตัวมาเข้าจำนำในโครงการ
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ผลผลิตข้าวในช่วงนาปรังปีนี้จะลดลง และไม่สมบูรณ์เหมือนที่ผ่านมา จากสาเหตุสภาพอากาศและปริมาณน้ำ ทำให้การกำหนดเกณฑ์รับจำนำดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้ว
คณะอนุกรรมการ กขช.ด้านตลาด จะหารือในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินภาพรวมตลาดข้าวเบื้องต้น ก่อนเสนอให้ที่ประชุม กขช.ชุดใหญ่พิจารณาในโอกาสต่อไป
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมันสำปะหลังแห่งชาติ มีมติให้คณะอนุกรรมการด้านการผลิต เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้ชัดเจน โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนไว้ก่อนล่วงหน้า ก่อนเปิดโครงการรับจำนำ หากเปิดโครงการไปแล้วจะถือว่าเสียสิทธิ ไม่สามารถเข้าโครงการของรัฐบาลได้ เพื่อป้องกันสวมสิทธิจำนำ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้คณะอนุกรรมการด้านราคา เร่งหารือกับเกษตรกรเพื่อประมาณการกำหนดราคาการแทรกแซงของรัฐบาล ว่า ควรอยู่ที่ระดับราคาเท่าใดและจะเข้าไปรับเป็นจำนวนเท่าใด โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 เม.ย. นี้ เพื่อให้ทันกับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพ.ค. นี้
ส่วนการระบายสต็อกสินค้าแป้งมันและมันเส้นนั้น ได้กำหนดให้คณะอนุกรรมการกลับไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะในปลายเดือนมี.ค. นี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะระบายสินค้าไปยังประเทศจีน แม้จะรู้อยู่แล้วว่าเป็นราคาขาดทุนก็ตาม คาดว่าภายในอีกสองสัปดาห์จะเห็นตัวเลขที่ชัดเจน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |