นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วันนี้ ตนจะหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้กำหนดวิธีการแทรกแซงราคาข้าวนาปี ด้วยระบบการรับจำนำต่อไป เนื่องจากระบบการประกันราคาแบบใหม่นั้น ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เองก็ยังไม่มีความชัดเจน และยังขาดความพร้อมในหลายด้าน หากฝืนดำเนินการอาจเกิดปัญหาซับซ้อนได้ แต่การกำหนดราคาจำนำนั้น หากให้ราคาสูง ก็ทำตลาดยาก ซึ่งต้องพิจารณาราคาที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดในช่วง ส.ค.นี้ ขณะที่ผลผลิตในภาคอีสานจะออกสู่ตลาดช่วง ต.ค. แต่ก็เป็นจำนวนน้อยและมียุ้งฉางเป็นส่วนใหญ่ หากจะนำร่องใช้วิธีการประกันราคากับพื้นที่นี้น่าจะสามารถดำเนินการได้ แต่ในภาพรวมการดูแลราคาข้าวที่ปลูกจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง เชื่อว่าหากนำวิธีประกันราคามาใช้ จะเกิดปัญหาซับซ้อนมากมาย ทั้งความไม่เข้าใจของชาวนา และเจ้าหน้าที่ภาครัฐเอง
สำหรับราคารับจำนำเบื้องต้นน่าจะเฉลี่ยตันละไม่ต่ำกว่า 1.1-1.2 หมื่นบาท ราคานี้อาจถูกมองว่าเป็นราคาที่สูง แต่เมื่อชาวนานำข้าวมาเข้าร่วมโครงการจริง จะถูกวัดความชื้นที่ส่วนใหญ่จะสูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด จึงถูกหักราคาลง เฉลี่ยชาวนาจะได้เงินค่าข้าวจริงประมาณตันละ 8-9 พันบาท
ทั้งนี้ ต้นทุนการทำนาเฉลี่ยที่ตันละ 7 พันบาท ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าปุ๋ย น้ำมัน และยาปราบศัตรูพืช ซึ่งราคาต้นทุนโดยเฉพาะปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชไม่ได้ลดราคาลงมากเท่าที่ควร หากรัฐต้องการจะกำหนดราคารับจำนำ ไม่ให้สูงมากต้องเข้ามาดูแลต้นทุนการผลิตให้ลดลงด้วย เพื่อให้ชาวนามีรายได้ที่เหมาะสม และสามารถอยู่ได้อย่างแท้จริง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประกันราคาเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง ผ่านการชดเชยส่วนต่างราคาที่รับประกันและราคาตลาดในขณะนั้น ซึ่งวิธีการนี้จะไม่กระทบกับกลไกตลาดปกติ และเป็นข้อดีในแง่ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีการระบายข้าวเพื่อการส่งออกเฉลี่ยปีละ 10 ล้านตัน ที่การขายข้าวจะเป็นไปตามกลไก ทำให้ไทยสามารถขายข้าวได้มากตามเป้าหมายที่กำหนด เพราะราคาไม่ได้ถูกบิดเบือนโดยรัฐบาล และการประกันราคาจะช่วยให้รัฐบาลประหยัด ทั้งงบประมาณ จากการดูแลรักษาสภาพข้าว การขายข้าวในราคาต่ำกว่าต้นทุน
ส่วนวิธีการรับจำนำ เป็นที่ทราบกันว่ามีช่องว่างมาก มีการทุจริตและเม็ดเงินไม่ถึงมือเกษตรกร หรือถึงมือเพียงไม่ถึง 20% ที่เหลือจะเป็นผลประโยชน์ที่ตกกับพ่อค้า โรงสี ผู้ส่งออกบางราย ทำให้กลไกราคา และการแข่งขันถูกบิดเบือน
"ข้าวนาปีที่จะออกสู่ตลาด พ.ย.นี้ ควรใช้วิธีการประกันราคาได้ทันทีแต่ยังคงให้ควบคู่ ไปกับวิธีการรับจำนำ เพราะยอมรับว่าในการเริ่มต้นเกษตรกรอาจยังไม่เข้าใจ ซึ่งรัฐต้องหาวิธีการจูงใจเกษตรกรด้วยการกำหนดราคาประกันสูงกว่ารับจำนำ ใช้ต้นทุนการผลิตบวกกับค่าใช้จ่ายของชาวนาและผลกำไรเฉลี่ย 20-25% ซึ่งโครงการรับจำนำทำให้ไม่มีข้าวอยู่ในตลาดเลย ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีข้าวส่งไปได้หรือไม่ ทำให้การส่งออกเสียโอกาสไป และการกำหนดราคารับจำนำที่สูงมากดึงราคาตลาดสูงตามไปด้วย แต่ในอีกด้านทำให้ข้าวไทยแข่งขันไม่ได้" นายชูเกียรติกล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |