โรเบิร์ต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อีร์รี) ในฟิลิปปินส์ ชี้ว่าตลาดโลกอาจจะไม่เจอกับภาวะขาดแคลนข้าว แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ราคาที่พุ่งสูงขึ้น
ความเห็นดังกล่าวของซิกเลอร์ สอดคล้องกับบรรดาผู้นำเข้า และส่งออกชั้นนำของโลก ที่ส่งสัญญาณเตือนว่า ราคาข้าวไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง แต่จะทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะภัยแล้งของอินเดีย และไต้ฝุ่นที่ถล่มฟิลิปปินส์ สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตรอบใหม่
ฟิลิปปินส์ ประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่สุดของโลก เดินหน้าโครงการรับประกันการมีข้าวบริโภคอย่างเพียงพอ ด้วยการกำหนดเปิดประมูลซื้อข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 600,000 ตัน ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ หลังทำสัญญาซื้อข้าวไปแล้ว 250,000 ตัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุดฟิลิปปินส์ ยังสร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ด้วยการกำหนดวันประมูลซื้อข้าวอีก 600,000 ตัน ในวันที่ 8 ธ.ค. ซึ่งหมายความถึงการซื้อเป็นปริมาณมากถึง 1.2 ล้านตัน ภายในสัปดาห์เดียว การเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า จะทำให้กรุงมะนิลาได้ข้อตกลงที่ดี เพราะผู้ส่งออกรายใหญ่ อย่าง ไทย ยังมีปริมาณข้าวสำรองอยู่มาก และอินเดียก็ยังไม่เร่งนำเข้าข้าว แม้จะเจอภาวะแห้งแล้งอย่างหนักก็ตาม ผลจากราคาเสนอขายในระดับสูง
ซิกเลอร์ ยอมรับว่า มีแรงกดดันขาขึ้นต่อราคาข้าว แต่ก็ยังไม่มีเหตุผลที่จะทำให้เกิดภาวะปั่นป่วนขึ้นมาแต่อย่างใด ซึ่งจนถึงขณะนี้ไม่มีแนวโน้มว่า ราคาจะพุ่งไปจนถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ทำไว้เมื่อปี 2551 เมื่อพิจารณาจากปริมาณสำรองที่ยังมีอยู่มากของประเทศผู้บริโภครายใหญ่ๆ อย่างจีน และอินเดีย
ผู้อำนวยการใหญ่อีร์รี เน้นด้วยว่า ปริมาณการซื้อขายข้าวในตลาดจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 ล้านตันต่อปี เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพให้ราคา โดยในปัจจุบันปริมาณการซื้อขายข้าวโลกอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน หรือประมาณ 7% ของผลผลิตทั่วโลก
อย่างไรก็ดี เจเรมี ซวินเกอร์ ประธานบริหารไรซ์ เทรดเดอร์ บริษัทที่ปรึกษา และโบรกเกอร์ ในสหรัฐ ชี้ว่า สถานการณ์การจัดหาข้าวโลกมีแนวโน้มที่จะตึงตัวกว่าเมื่อปี 2551
เช่นเดียวกับ มามาดู ซิส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริการแอร์เมส อินเวสต์เมนท์ อดีตโบรกเกอร์ข้าว ในสิงคโปร์ ผู้ระบุว่า สถานการณ์ทั้งการจัดหา และความต้องการจะตึงตัวอย่างมาก
ซิส มองว่า มีแนวโน้มที่ในช่วง 3-5 เดือนข้างหน้า ดัชนีราคาส่งออกข้าวไทย จะปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 20% มาอยู่ที่ 650-700 ดอลลาร์ต่อตัน และมีความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวในตลาดโลกอาจพุ่งไปถึงตันละ 2,000 ดอลลาร์ ในช่วงกลางปี 2553
ก่อนหน้านี้ นายศรัณยู เจียมสินกุล รองกรรมการผู้จัดการเอเชีย โกลเด้น ไรซ์ ในไทย เคยระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่จะเกิดวิกฤติข้าวขึ้นในปี 2553 เพราะอินเดียเผชิญภัยแล้ง ส่วนอินโดนีเซีย ก็อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยราคาข้าวอาจพุ่งขึ้นถึง 2 เท่า ไปยืนอยู่ที่ระดับมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน
กระทรวงเกษตรสหรัฐ ประเมินก่อนหน้านี้ว่า ความต้องการข้าวโลก ช่วงปี 2553 อาจพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุด นับแต่แต่ปี 2503 เป็นต้นมา และอาจทะยานเกินปริมาณผลผลิตที่มีอยู่ราว 2.4 ล้านตัน หากผลผลิตข้าวทั่วโลกร่วงลงราว 2.7% มาอยู่ที่ 433.6 ล้านตัน
บรรดาผู้นำเข้า และส่งออกข้าว รวมถึงกลุ่มนักวิเคราะห์ในเวียดนาม ไทย อินเดีย สิงคโปร์ และปากีสถาน มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาข้าวไทยอาจทะยานขึ้นไปถึงระดับ 1,038 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของปีที่แล้ว
ขณะที่ ซามาเรนดู โมฮันตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของอีร์รี ชี้ว่า ปริมาณข้าวที่อินเดีย และฟิลิปปินส์เปิดรับซื้อนั้น จะเป็นตัวตัดสินว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะทะยานขึ้นไปมากน้อยเพียงใด
กระทรวงเกษตรสหรัฐ ประเมินว่า ฟิลิปปินส์ ซึ่งเริ่มเปิดประมูลซื้อข้าวเร็วกว่าปกติ 1 เดือนนั้น อาจเพิ่มปริมาณนำเข้าข้าวอีก 30% มาอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.6 ล้านตัน
ขณะที่อินเดีย มีแนวโน้มเก็บเกี่ยวได้น้อยลง 16% และทำให้ปริมาณสำรองลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 9.9 ล้านตัน ภายในเดือนต.ค. 2553 จากระดับ 17 ล้านตัน เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ในปีหน้า อินเดียอาจต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมากถึง 3 ล้านตัน กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวสุทธิครั้งแรกในรอบ 21 ปี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|