นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รวบรวมปริมาณความต้องการซื้อข้าวไทย ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แล้วขณะนี้ปริมาณรวมทั้งสิ้น 9.5 แสนตัน จากประเทศ 9 ประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มาดากัสกา บรูไน เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาและเชื่อว่าคำสั่งซื้อจะเข้ามาอีก ซึ่งในการระบายรัฐต่อรัฐจะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากราคาที่เหมาะสม ความต้องการจำเป็นเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ คาดว่าวิกฤติด้านอาหารโลกจะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่อาจไม่รุนแรงเท่าปี 2551 ประกอบกับราคาน้ำมันยังไม่สูงมาก แต่เชื่อว่าปริมาณความต้องการข้าวจากไทยสูงต่อเนื่องทั้งปี โดยการส่งออกปีนี้จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8.5 ล้านตัน อาจได้เกินคาดเป้าหมายโดยอาจมีปริมาณ 8.5-9 ล้านตัน ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะส่งออกได้ในปริมาณ 9-10 ล้านตัน ตามที่หลายหน่วยงานได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศยังไม่มีการกำหนดเป้าหมาย
“จากการที่กรมฯ ได้ประเมินสถานการณ์การผลิตข้าวในหลายประเทศขณะนี้ ทั้งอินเดีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม ต่างประสบปัญหาภัยธรรมชาติ จึงทำให้ปีหน้า อาจจะมีการชะลอการส่งออกข้าว จากประเทศผู้ผลิต จึงเป็นโอกาสดีของไทย ในการส่งออกข้าว ซึ่งประเมินว่าในช่วงต้นปี จะขาย
จีทูจี กว่า 9.5 แสนตัน และ ปี 2553 ทั้งปีขายจีทูจีไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน” นายวิจักร กล่าว
นายวิจักร กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ ราคาส่งออกข้าวปัจจุบันเพิ่มขึ้นตันละ 10-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยข้าวขาว 5%ราคาอยู่ที่ตันละ 520-530 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวนึ่งตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งราคาข้าวที่สูงขึ้นในส่วนของไทยไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาข้าวเวียดนามมีราคาสูงขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาข้าวไทยกับเวียดนามห่างกันเพียงตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ จากก่อนหน้านี้ที่ราคาต่างกันตันละ 100-120 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ส่วนปริมาณการส่งออกข้าวในปี2552ตั้งแต่เดือนม.ค.-วันที่ 13 พ.ย. 2552 มีปริมาณการส่งออกรวม 7.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายวิจักร กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้ช่วยดำเนินการชี้แจง เกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเชื่อว่าราคาข้าวภายในประเทศยังมีราคาดี แม้หลายฝ่ายจะมีความวิตกกังวล ปริมาณสต็อกข้าวของรัฐบาล ที่มีอยู่หลายล้านตัน แต่ทั้งนี้สต็อกข้าวของรัฐบาลมีข้าวเก่าเพียงหนึ่ง หมื่นตันเท่านั้น
ส่วนที่เหลือจะเป็นข้าวฤดูกาลใหม่ คุณภาพดี ดังนั้น เชื่อว่าราคาข้าวที่จะส่งออก จะยังคงยืนในระดับสูงต่อไป และในฤดูข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาด เป็นการทยอยออก จึงไม่ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
ประเมินราคาข้าวพุ่งต่อเนื่อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์วานนี้ (16 พ.ย.) ว่า ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเรื่อง ผลจากภัยแล้งในอินเดีย และพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มฟิลิปปินส์ ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวพืชผล
นายศรัณยู เจียมสินกุล รองกรรมการผู้จัดการเอเชีย โกลเด้น ไรซ์ ของไทย คาดการณ์ว่า ราคาข้าวอาจพุ่งขึ้นถึงสองเท่า ไปยืนอยู่ที่ระดับมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ผลจากปรากฏ-การณ์เอลนีโญ ที่ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง ทั้งฟิลิปปินส์ และอินเดีย ก็เพิ่มการนำเข้าข้าว
ขณะที่ นายเร็กซ์ เอสโตเปเรซ โฆษกสำนักงานอาหารแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ประเมินว่า ราคาข้าวจะยังไม่ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด จนกว่าจะถึงเดือนมี.ค. ปีหน้า
ชี้ข้าวกลางปีหน้าราคาพุ่ง2พันดอลล์
ทางด้าน นายเจเรมี ซวินเกอร์ ประธานบริหารไรซ์ เทรดเดอร์ บริษัทที่ปรึกษา และโบรกเกอร์ ในสหรัฐ ชี้ว่า สถานการณ์การจัดหาข้าวโลกมีแนวโน้มที่จะตึงตัวกว่าเมื่อปี 2551 ที่ภาวะขาดแคลนอาหาร จุดชนวนให้เกิดการจลาจลไล่ตั้งแต่เฮติ ไปจนถึงอียิปต์
นายมามาดู ซิส หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริการแอร์เมส อินเวสต์เมนท์ อดีตโบรกเกอร์ข้าว ในสิงคโปร์ ผู้ระบุว่า สถานการณ์ทั้งการจัดหา และความต้องการจะตึงตัวอย่างมาก โดยมีแนวโน้มว่าในช่วง 3-5 เดือนข้างหน้า ดัชนีราคาส่งออกข้าวไทย จะปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 20% มาอยู่ที่ 650-700 ดอลลาร์ต่อตัน และมีความเป็นไปได้ ที่ราคาในตลาดโลกอาจพุ่งไปถึงตันละ 2,000 ดอลลาร์ ในช่วงกลางปี 2553
นักวิเคราะห์ชี้ข้าวไทยพุ่งเกินพันดอลล์
ในการสำรวจความคิดเห็นผู้นำเข้าและส่งออกข้าว รวมถึงกลุ่มนักวิเคราะห์ในเวียดนาม ไทย อินเดีย สิงคโปร์ และปากีสถาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ราคาข้าวไทยอาจทะยานขึ้นไปถึงระดับ 1,038 ดอลลาร์ต่อตัน ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก อาจกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ หลังจากภาวะฝนแล้งหนักที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ทำให้ผลผลิตข้าวท้องถิ่น ในปีการซื้อขายปัจจุบัน ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. หายไปถึง 15% ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องเร่งนำเข้าข้าวสำหรับปี 2553 เพราะพายุไต้ฝุ่น 2 ลูกที่พัดเข้าถล่มประเทศ ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายมากถึง 1 ล้านตัน
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร สหรัฐ แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวในช่วง 4-8 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งคาดว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณข้าวสำรองของโลก หดหายไปถึง 41% มาอยู่ที่ 85.9 ล้านตันภายในปี 2552-2553 ลงหนักกว่าระดับสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 146.7 ล้านตัน เมื่อปี 2544-2545
รัฐขยับราคาอ้างอิงชดเชยลดลง
ด้านกรมการค้าภายในแจ้งราคากลางอ้างอิงและอัตราชดเชย ช่วงวันที่ 16-30 พ.ย. รวมทั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกของรัฐบาลวันที่ 16 พ.ย. ว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 13,002 บาท ชดเชยตันละ 2,298 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 12,620 บาท ชดเชยตันละ 1,680 บาทข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,501 บาท ไม่มี ส่วนต่างที่ต้องชดเชย ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,473 บาทชดเชยตันละ 1,027 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,914 บาท ชดเชยตันละ 1,086 บาท หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 1.58 บาท ชดเชย กิโลกรัมละ 0.12 บาท ข้าวโพด ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ5.86 บาทชดเชยกิโลกรัมละ 1.24 บาท
ส่วนราคาข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตั้งโต๊ะรับซื้อ ณ จุดรับซื้อของรัฐบาลที่มีธงฟ้า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 13,002 บาท ราคาข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 12,620 บาท ราคาข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,501 บาท ราคาข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,473 บาท ราคาข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 8,914 บาท ราคาข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 8,714 บาท ราคาข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 8,314 บาท
ตามทวงหนี้ข้าวรัสเซีย 40 ล้านดอลล์
นายวิจักร กล่าวด้วยว่า กรมฯ ยังได้มีการติดตามหนี้ค่าข้าวที่รัสเซีย ค้างชำระแก่ไทยประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2537 โดยอยู่ระหว่างการติดตามและเจรจา ซึ่งมีหลายรูปแบบที่จะขอให้รัสเซียชำระคืนหนี้ให้แก่ไทย และมั่นใจว่าจะได้รับชำระคืน
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน รัสเซียเป็นหนี้ค่าข้าวไทยมูลค่า 40.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติในหลักการการรับชำระหนี้จากรัสเซียไว้ 4 แนวทาง คือ 1.เจรจาให้รัสเซียจ่ายเป็นเงินสด 40.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 2.แลกกับเฮลิคอปเตอร์รุ่น MI 17V5 จำนวน 3 ลำ มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 997 ล้านบาท และอีก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ชำระเป็นเงินสด 3.แลกเปลี่ยนเฮลิคอปเตอร์เหมือนแนวทางที่ 2 แต่ที่เหลือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าตามที่กองทัพบกต้องการ และ 4.ตามข้อเสนอใหม่ของกองทัพบก รับชำระหนี้เป็นเฮลิคอปเตอร์รุ่น ANSAT เพื่อนำไปใช้ในภารกิจภาคใต้ ซึ่งกองทัพบกได้ขออนุมัตินำเข้า 8 ลำ เป็นงบผูกพัน 2,000 ล้านบาท โดยให้หักจากค่าข้าวก่อน 40.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท ที่เหลือ 800 ล้านบาท ไทยจ่ายชำระค่าเฮลิคอปเตอร์เป็นเงินสด
นอกจากนี้ ยังมีเกาหลีเหนือและกินี ที่เป็นหนี้ค่าข้าวไทย มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะใช้วิธีการเดียวกันกับรัสเซียในการติดตามทวงหนี้คืน
ชาวนาอยุธยาปลื้มราคาข้าวเริ่มขยับ
นายวิเชียร พวงลำเจียก ประธานกลุ่มเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ชาวนาหลายคนเริ่มดีใจหลังจากที่พ่อค้าคนกลาง ออกรับซื้อข้าวแบบขายสดโดยตรงกับชาวนา ทำให้ชาวนามีหนทางในการเลือกขาย โดยราคาที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อใกล้เคียงกับราคาประกัน คือ ที่ 8,400-8,500 บาทต่อตัน และชาวนาส่วนใหญ่เลือกที่จะขายเงินสดให้แก่พ่อค้าคนกลาง เนื่อง-จากต้องใช้เงินทำเป็นทุนหมุนเวียนประกอบอาชีพ และบางส่วนต้องนำไปจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และ ยาฆ่าแมลง กับร้านค้าที่ซื้อประจำ
ทั้งนี้ ยอมรับว่าโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรที่ออกมาในช่วงนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่ภาครัฐพยายามจะแก้ปัญหาเกษตรกรถูกเอาเปรียบ แต่ที่ผ่านมา กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ล่าช้า และเกษตรกรไม่เข้าใจกระบวนการและวิธีการจึงทำให้เกิดปัญหา
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้พ่อค้าคนกลางออกรับซื้อข้าวจากชาวนาถึงที่ เป็นเพราะเริ่มมีความต้องการผลิผลิตค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันเชื่อว่าการส่งออกข้าวของไทยไปยังต่างประเทศเริ่มขยับตัวมากขึ้น จึงทำให้ตลาดมีกำลังซื้อจนเป็นสาเหตุให้ราคาข้าวพุ่งสูงไปด้วย นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันการส่งออกข้าวของไทยไปยังต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจความต้องการของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ แต่นโยบายมาสู่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ยังไม่เข้าใจกันมากนัก จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกและทบทวนให้มีความพร้อมก่อนที่จะมีการประกาศใช้นโยบายต่างๆ ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร เพราะจะได้ไม่เกิดความผิดพลาด เช่น การประกาศใช้นโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตรแทนการรับจำนำ ในช่วง 2 เดือนที่อยู่ช่วงของการยกเลิกการรับจำนำ และหันมาใช้นโยบายประกันราคา เกษตรกรหลายคน และชาวนา ถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลางที่กดราคาข้าวเหลือเพียง ตันละ 4,500-5,000 บาท เท่านั้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|