นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมหารือกับกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการเตรียมความพร้อมในการเปิดตลาดสินค้าข้าว ซึ่งมีกำหนดจะลดภาษีข้าวทุกชนิดในพิกัดศุลกากร 1006 เป็น 0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% โดยไม่มีโควตา เพื่อให้เป็นไปตามความผูกพันภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) มีผลภายในเดือนม.ค. 2553 ซึ่งอาจเป็นช่องให้ข้าวจากประเทศอาเซียน ซึ่งมีราคาถูกกว่าข้าวของไทยเข้ามาในประเทศ นอกจากจะเข้ามาชิงตลาด จากส่วนต่างด้านราคาที่ถูกกว่าแล้ว ยังอาจเป็นช่องทางให้ข้าวเพื่อนบ้าน สามารถเข้ามาสวมสิทธิโครงการรับจำนำด้วย
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า เดิมหลายฝ่ายคิดว่าสินค้าข้าว ควรจะอยู่ในบัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง (Sensitive List : SL) ซึ่งมีอัตราภาษีสุดท้ายสูงกว่า 5% และมีมาตรการคุ้มกันพิเศษได้ ซึ่งไทยได้เสนอสินค้าอ่อนไหว 7 รายการ เช่น เนื้อมะพร้าว ไม้สัก แต่ไม่มีสินค้าข้าว ทำให้ไทยต้องยอมเปิดตลาดข้าวในประเทศตามที่ได้ตกลงกับอาเซียนไว้ ซึ่งผลจากการเปิดเสรีนี้ อาจจะมีสินค้าเหล่านี้ทะลักเข้ามาจากอาเซียน โดยเฉพาะกัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับไทย รวมถึงเวียดนาม ผู้ส่งออกเกรงว่าจะกระทบกับการดูแลควบคุมคุณภาพข้าวของไทยที่จะส่งออกไปต่างประเทศ
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดูแลสินค้านำเข้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ สามารถดำเนินการได้ ด้วยการกำหนดมาตรการสำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นคนละกรอบของการนำเข้าใช้กับสินค้า การกำหนดให้มี "ออโตเมติก ไลเซ่นซิ่ง" เพื่อตรวจสอบได้ทันทีที่มีการนำเข้าว่าสินค้านั้นๆ นำเข้าโดยใคร ปริมาณเท่าใด และถูกนำไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งสะดวกต่อการควบคุมไม่ให้สินค้าที่นำเข้ากระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน
นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดมาตรการภายใน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ ซึ่งแนวทางทั้งหมดสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ตามหลักการค้า ทั้งนี้ สินค้าข้าวมีการตกลงภายในกรอบอาฟตาตั้งแต่ปี 2535
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การเปิดตลาดสินค้าข้าวในอาเซียนปีหน้า น่าจะให้ประโยชน์กับไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวสำคัญภายในอาเซียน เพียงแต่ไทยจะต้องกำหนดนโยบายการรับจำนำข้าว ให้สอดคล้องกับราคาตลาด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ภายในอาเซียน แม้ว่าเวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (CLMV) ซึ่งระยะเวลาในการลดภาษีช้ากว่าไทย แต่จะลดภาษีเป็น 0% เช่นเดียวกับไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
“กรมฯ จะหารือเอกชนเตรียมความพร้อมในการกำหนดมาตรการนำเข้า ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพราะหากเปรียบเทียบด้านราคา ไทยอาจจะเสียเปรียบในแง่ที่เรามีราคารับจำนำสูงกว่า ก็อาจจะทำให้มีข้าวเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญต้องเน้นดูแลนำเข้าข้าวที่มีคุณภาพสูง เพื่อการบริโภคภายใน และมองว่าข้าวไทยก็มีโอกาสจะเปิดตลาดไปในอาเซียน” นางอภิรดี กล่าว
การส่งออกข้าวของไทย ในช่วงเดือนม.ค. นี้ มีปริมาณ 628,792 ตัน มูลค่า 331 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินบาทคือ 11,352 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 1.01 ล้านตัน มูลค่า 421 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินบาทคือ 14,081 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่ควรเปรียบเทียบยอดส่งออกข้าวเดือนม.ค. ปีนี้ กับเดือนเดียวกับปีก่อน เพราะเป็นช่วงที่หลายประเทศกลัวเรื่องอาหารโลกขาดแคลน จึงนำเข้าสินค้าเกษตรจำนวนมาก หากเทียบกับการส่งออกข้าวเดือนม.ค. 2550 อยู่ระดับใกล้เคียงกัน
ส่วนการส่งออกเดือนม.ค.-13 ก.พ. มีปริมาณ 941,286 ตัน มูลค่า 508 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินบาทคือ 17,490 ล้านบาท เป็นปริมาณสูง เชื่อว่าทั้งปีสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย 8.5-9.5 ล้านตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|