นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการประมูลข้าวของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 2.6 ล้านตัน ให้แก่บริษัทเอกชน 17 ราย โดยระบุว่าเรื่องดังกล่าวจะชัดเจนวันนี้ (18 มิ.ย.) เพราะได้บอกไปแล้วว่าการระบายสินค้าเกษตรทุกชนิดต้องถูกต้องตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2552
“กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับการประมูลข้าว ต้องหาคำตอบ และต้องอธิบายให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น มีการปฏิบัติตามมติ ครม.หรือไม่ หากมีปัญหาในข้อกฎหมายหรือมติครม.จะแก้ปัญหาให้เอกชนอย่างไร ผมมีหน้าที่ดูแลว่าทุกคนปฏิบัติตามมติครม. ถ้าเกิดปัญหาภายนอก เพราะมติ ครม.เป็นเรื่องภายในระหว่างรัฐด้วยกันเอง หากมติครม.ที่ออกมามีปัญหากับเอกชนที่เป็นคนนอก ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน แต่ต้องรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม” นายอภิสิทธิ์ กล่า
ชี้ส่งอัยการตีความเป็นเรื่องพาณิชย์
สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมอบข้าวให้เอกชน ระหว่างที่ส่งเรื่องให้อัยการตีความสัญญาซื้อขายข้าว กระทรวงพาณิชย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เท่าที่ทราบมีเอกชนบางรายที่ร้องเรียนว่าได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวที่ประมูลให้กับเอกชนรายอื่นไปแล้ว จึงต้องมาพิจารณาว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน และหลังมติครม. ถ้าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีมติครม.ออกมา หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน แต่ถ้าขัดกับมติครม.แล้วไม่แก้ไข ไม่ได้ เท่าที่ทราบกระทรวง พาณิชย์แก้ไขไปแล้วหลายส่วน ยังมีบางส่วนที่กำลังแก้ไขอยู่
หลังจากรัฐบาลมีมติครม.เกี่ยวกับการระบายสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำออกมาชัดเจน ราคาข้าวในตลาดก็ดีขึ้น ขณะนี้กำลังรอการชี้แจงจาก กระทรวงพาณิชย์อยู่ว่าสามารถยกเลิกการประมูลข้าวจำนวน 2.6 ล้านตัน ได้ จำนวนเท่าใด กระทรวงพาณิชย์ต้องไปเจรจากับเอกชน
เดินหน้าประกันราคาสินค้าเกษตร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเปลี่ยนนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรจากการรับจำนำมาเป็นการประกันราคาว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างความความเข้าใจให้เกษตรกร หากดูจาก ผลสำรวจความคิดเห็นที่ออกมา เกษตรกรเริ่มมีความเข้าใจที่ดีขึ้น นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้อง เพราะนโยบายจะเกิดไม่ได้ถ้าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย
รัฐบาลเชื่อว่าการประกันราคาเป็นเรื่องที่ดี
ต้องทำให้เกิดการยอมรับ แม้จะรู้ว่ามีคนบางกลุ่มไม่ต้องการจึงจำเป็นที่จะต้องลงไปให้ข้อมูลชี้แจงให้เกิดการยอมรับ
ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายการประกันราคามันสำปะหลังออกมาแล้ว ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คงไม่ยาก มีเพียงข้าวเท่านั้นที่กำลังพิจารณาอยู่ เนื่องจากมีผลผลิตออกมาต่อเนื่องทั้งปี จึงต้องหาจุดสิ้นสุดของนโยบายรับจำนำเบื้องต้นที่กำหนดไว้ วันที่ 31 ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวนาปรัง
ลุยใช้ประกันราคาข้าวได้ช่วงส.ค.นี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าหากรัฐบาลจะนำนโยบายประกันราคาข้าวมาใช้ ในเดือนก.ค. นี้ ต้องดำเนินการต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนผลผลิตข้าวนาปีจะออกช่วงเดือนส.ค.นี้ หัวใจของการประกันราคาคือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่ต้น เชื่อว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำได้ไม่ยากจะมีปัญหาบ้างคือเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธ.ก.ส.
“หากรัฐบาลจะมีโครงการรับจำนำ ราคาที่จะรับจำนำต้องต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเปิดทางเลือกให้สินค้าไม่ออกสู่ตลาด ส่วนเกษตรกร โรงสีและพ่อค้าไม่เห็นด้วยกับการประกันราคา คิดว่าเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมอยู่1 ใน 5 ของเกษตรกรทั้งหมด ยอมรับว่าคนที่ได้ประโยชน์มีอิทธิพลต่อเกษตรกร แต่รัฐบาลต้องคิดถึงส่วนใหญ่ที่ไม่มีอิทธิพล งานนี้ เป็นงานที่ท้าทาย หากไม่ฉีกออกจากตรงนี้ก็จะวนอยู่ในวัฏจักรเดิม”
นายกฯยันไม่คิดขวางพาณิชย์
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ไม่อยากให้ไปคิดว่าตนและนายกอร์ปศักดิ์ มีแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร ต่างจากกระทรวงพาณิชย์ เพราะกระทรวงพาณิชย์ก็มีแนวทาง ปฏิบัติที่เคยทำมา ในช่วงที่เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก เพราะเป็นเรื่องของฤดูกาล จึงต้องทำต่อเนื่อง มีเพียงการรับจำนำข้าวนาปรังเท่านั้น ที่อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าทำต่อเนื่อง แต่ข้อเท็จจริงเป็นเพราะเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน เพราะจะกระชาก ความรู้สึกเกษตรกรเกินไป หากจะเปลี่ยนจากระบบรับจำนำที่ทำกับข้าวนาปีที่มีการรับจำนำในราคาสูงมาเป็นการประกันราคา
“พรทิวา”ส่งหนังสือแจ้งเอกชนล้มประมูลข้าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่านางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามในหนังสือยกเลิกสัญญาซื้อขาย ข้าวระหว่างรัฐบาลกับผู้ส่งออกข้าว 17 ราย ปริมาณ 2.6 ล้านตันแล้ว ตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ โดยหนังสือดังกล่าวจะส่งถึงองค์การคลังสินค้า(อคส.) ในฐานะคู่สัญญาเพื่อแจ้งให้ผู้ส่งออกทราบต่อไป
ทั้งนี้ในกาปรระชุมครม.เมื่อวันที่16 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุมครม.ขอให้ยกเลิกสัญญาประมูลข้าวของกระทรวงพาณิชย์เนื่องจากเกรงว่าจะขัดมติครม.
ส่วนอคส.จะถูกเอกชนฟ้องร้องได้หรือไม่ยังไม่มีความชัดเจน เป็นหน้าที่ อคส.ที่ต้องเจรจาไกล่เกลี่ยและหาทางออก ทั้งนี้การยกเลิกสัญญาจะหมายถึงข้าวในส่วนที่ยังไม่มีการชำระเงิน ส่วนข้าวที่ผู้ส่งออกชำระเงินแล้ว 2.4 แสนตัน ให้ดำเนินการต่อได้
“รมว.พาณิชย์ ได้แจ้ง อคส.ไปแล้ว ให้หยุดสัญญาไว้ก่อน อคส. คงต้องไปดำเนินการต่อ ส่วน ที่ อคส. จะถูกฟ้องหรือไม่ตอนนี้ยังไม่รู้ ภายใน1-2วันจะมีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร คาดว่าจะหาข้อสรุปภายใน 1-2 วันนี้ ก่อนนำเสนอ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ( กขช.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ต่อไป” รายงานข่าวระบุ
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่าผู้ชนะการประมูลทั้ง 17 ราย รู้สึกกังวลว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกผลประมูลข้าวทั้งหมด ทำให้ผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลและได้ชำระเงินไปแล้ว ต่างแตกตื่นและส่งรถบรรทุกไปขนข้าว ออกจากโกดังออกทันทีส่วนใหญ่เป็นโกดังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.)
แกนนำภูมิใจไทยยัวะปชป.ขัดขาทำงาน
แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าหากนายกรัฐมนตรี ต้องการยกเลิกประมูลข้าวไปเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เพราะกระทรวงพาณิชย์ยืนยันมาตลอดว่าไม่ขัดมติ ครม. แต่ถ้าจะล้มประมูลก็ทำได้วันนี้(18มิ.ย.) ในส่วนของนางพรทิวา จะทำหนังสือชี้แจงนายอภิสิทธิ์ โดยยืนยันการประมูลขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมา ยืนยันไม่ขัดมติครม.แม้จะมีการเซ็นสัญญาไปแล้วก็ตาม
“แต่นายกฯต้องรับผิดชอบหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น วันนี้กระทรวงพาณิชย์แทบทำอะไรไม่ได้เลย นี่คือการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วม ที่สกัดไปทุกทางเรื่องนี้นายกฯฟังความข้างเดียวกับคนใกล้ตัว แต่ไม่เคยฟังความเห็นของพรรคร่วม ไม่รู้ว่าจะอยู่กันได้นานแค่ไหน”
เอเชียฯยันไม่ฟ้องพร้อมเข้าประมูลใหม่
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ บริษัท เอเชีย โกลเดนท์ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกประมูลข้าว แม้ก่อนหน้านี้บริษัทจะมีการรับออเดอร์เพื่อส่งออกไปบ้างแล้ว แต่เป็นปริมาณที่ไม่มาก ส่วนตัวคงไม่มีปัญหาที่รัฐจะยกสัญญา ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีความชัดเจนในการตัดสินใจ หากรัฐบาลกลับมาเปิดประมูลใหม่ บริษัทก็พร้อมเข้าร่วมประมูลอีกครั้ง
“พรทิวา”ยันโปร่งใสท้าเดิมพันตำแหน่ง
ขณะที่นางพรทิวา กล่าวชี้แจงในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ปี 2553 กรณีรับจำนำสินค้าและการระบายข้าว ว่า นโยบายการรับจำนำมีความจำเป็น เพราะต้องการพยุงราคาช่วยเหลือเกษตรกร ทุกรัฐบาลรับจำนำราคาสูงกว่าตลาด เพื่อดึงราคา ซึ่งประโยชน์ตกอยู่ที่เกษตรกร เช่น การรับจำนำข้าวในปี 2550 ราคาตลาด 6,197 บาทต่อตัน รับจำนำราคา 6,500 บาทต่อตัน ปี 2551 ราคาตลาด 12,000 บาทต่อตัน รับจำนำราคา 14,000 บาทต่อตัน แต่ นายกฯ และ ครม. กำลังเปลี่ยนการรับจำนำมาเป็นการประกันราคา
ส่วนการระบายสินค้าข้าว ยืนยันว่าดำเนิน-การด้วยความโปร่งใส หาก ส.ส.ท่านใดมีข้อมูลว่าตนรับเงินตันละ 2 พันบาท ให้นำมาแสดง ยินดีลาออกจากตำแหน่งและเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ทุกอย่าง แต่หากไม่มีข้อมูล เพียงกล่าวหาโดยไม่มีข้อเท็จจริง ผู้ที่กล่าวหาต้องลาออกด้วย
ทั้งนี้ การระบายข้าวจะดำเนินการช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเวียดนามและอินเดีย ไม่ขายข้าวเข้าสู่ตลาด ที่สำคัญหากเก็บสต็อกไว้นาน รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 800 ล้านบาท หากเก็บไว้ 1 ปี รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท จากปริมาณข้าวขณะนี้ 5.7 ล้านตัน สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ต่างท้วงติงว่าการเก็บสต็อกไว้นานจะเป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล
รับระบายข้าวออกขาดทุนทุกปี
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการระบายข้าวทุกครั้ง ต้องประสบกับปัญหาขาดทุน เนื่องจากรัฐเก็บสต็อกเอาไว้นานและเสื่อมสภาพลง แต่กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ให้ขาดทุนน้อยที่สุด โดยการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป
“ทุกปีทุกรัฐบาลขายข้าวขาดทุนในปี 2550 ขาดทุน 9.4 พันล้านบาท ปี 2551 ขาดทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันหากขายออกไปตามที่ได้ประมูล ขาดทุน 7,990 ล้านบาท หรือ ตันละ 3,091 บาท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลก่อน ต้องดำเนินการระบายออก และต้องขาดทุนน้อยที่สุด ตรวจสอบได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |