นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (17 ก.ค.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการประกันราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2552/2553 พร้อมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณากำหนดราคาประกันขั้นต่ำของข้าวแต่ละชนิด โดยคำนวณจากต้นทุนการผลิตและกำไรที่เกษตรกรจะได้รับ ราคาประกันที่จะประกาศต้องเป็นราคาที่ทำให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่ขาดทุน โดยข้อสรุปที่ได้เสนอที่ประชุม กขช.พิจารณาอีกครั้ง 2 สัปดาห์
พร้อมกันนั้น กขช.ให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณากำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกในตลาด เพื่อเสนอ กขช.พิจารณาอีก 2 สัปดาห์ เช่นกัน โดยมาตรการเสริมที่จะนำมาใช้ร่วมกับการประกันราคาข้าว เบื้องต้นมี 2 วิธี คือ การรับจำนำข้าวในยุ้งฉางเกษตรกรเหมือนเดิม หรือรับซื้อข้าวและส่งออกขายต่างประเทศ
นายกฯสั่งเลิกประกันหอมมะลิ 8 จังหวัด
ส่วนโครงการประกันข้าวเปลือกหอมมะลินำร่อง 2 แสนตัน ในพื้นที่ 8 จังหวัดนั้น ให้ยกเลิกไป เพราะรัฐบาลได้ประกาศการประกันราคาทั่วประเทศแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว ส่วนปริมาณที่จะระบายให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการระบายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ ขณะที่ปริมาณข้าวที่จะระบายออกไปในแต่ละช่วงเวลา จะต้องทยอยการระบายข้าว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาข้าวในตลาด การระบายข้าวในสต็อกของรัฐ จะเน้นการระบายออกต่างประเทศ
ทั้งนี้ ยังเห็นชอบให้ยกเว้นไม่ต้องให้มีผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือเซอร์เวเยอร์ ก่อนเปิดประมูล ซึ่งต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติ ส่วนการเปิดประมูลซื้อข้าวจะเปิดประมูลรายโกดัง หากพบราคาประมูลโกดังใดต่ำกว่าปกติ รัฐบาลมีสิทธิที่จะไม่ขายได้ การขายข้าวออกทุกครั้งต้องเสนอ ครม. ขณะเดียวกัน ให้มีการเจรจาต่อรองราคากับผู้ประมูลที่เสนอราคาสูงสุดรายเดียวเท่านั้น จากเดิมที่มักใช้ 5 รายแรกมาต่อรอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ให้เจรจากับผู้ที่เสนอราคาดีที่สุดก่อน
นายกอร์ปศักดิ์ ระบุว่า กขช.เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบายข้าวเปลือกที่ ธ.ก.ส.รับจำนำจากเกษตรกรที่ยุ้งฉางเกษตรกร และหมดระยะเวลาไถ่ถอน จำนวน 6.3 แสนตัน เป็นข้าวหอมมะลิ 4 แสนตัน โดยให้หารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อระบายข้าวเปลือก โดยระบายออกในรูปข้าวเปลือกทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแปรสภาพ และไม่เกิดการรั่วไหล
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ กรรมการ กขช.กล่าวว่า ที่ประชุมเพียงเห็นชอบในหลักการ แต่ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้วิธีการประกันราคาข้าว แทนการรับจำนำแบบเดิม ซึ่งนายกฯ ระบุว่าน่าจะใช้วิธีการประกันราคามากกว่า หากยังใช้วิธีการรับจำนำแบบเดิมก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่รัฐบาลต้องรับภาระขาดทุนทุกปี โดยนายกฯ ให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ปลูกข้าว หากมีข้อมูลพร้อมไม่ว่าจะดำเนินการวิธีการใด ก็จะช่วยป้องกันการทุจริตได้
ดันข้าวหอมมะลิ-ข้าวขาวซื้อขายเอเฟต
นอกจากนี้ กขช.เห็นชอบให้นำข้าวสารในสต็อกของรัฐปริมาณ 763,920 ตัน เป็นข้าวหอมมะลิ 3 แสนตัน ข้าวสารขาว 5% ปริมาณ 463,929 ตัน ออกจำหน่ายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต) เดือน ก.ค.นี้ เป็นข้าวหอมมะลิ 2 แสนตัน ส่วนเดือน ส.ค.-ก.ย.อีกเดือนละ 5 หมื่นตัน ส่วนข้าวขาว 5% จะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อใช้ราคาข้าวตลาดเอเฟตเป็นราคาอ้างอิง ส่วนการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐที่คาดว่ามีอยู่กว่า 7 ล้านตัน อาจขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ “จีทูจี” โดยเฉพาะขายให้ฟิลิปปินส์ ไทยไปเจรจากับฟิลิปปินส์ และรื้อฟื้นการลงนามข้อตกลงที่ไทยจะขายข้าวให้ฟิลิปปินส์แบบจีทูจีปีละ 5 แสนตัน เป็นเวลา 3 ปี
นายกชาวนาเตือนอย่าเร่งประกันราคา
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในส่วนของชาวนาไม่ได้คัดค้านการประกันราคา แต่สิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการอยู่ขณะนี้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลทะเบียนชาวนายังไม่พร้อม ตนไม่เห็นด้วย ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล ซึ่งยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนชาวนาแต่อย่างใด จริงๆ ตามขั้นตอนเมื่อมีการขึ้นทะเบียนชาวนาแล้ว ต้องประชุมประชาคมก่อนเพื่อพิจารณาข้อมูลที่ได้ว่าถูกต้องหรือไม่ ปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ยังไม่มี ไม่พร้อม
"ผมไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำไมถึงมาเร่งรีบจะประกันราคาข้าวนาปี 2553/2554 ควรสำรวจข้อมูลให้ได้ก่อน และให้หน่วยงานวางแผนอย่างรัดกุม เตรียมการขั้นทะเบียนให้พร้อม วันนี้ข้าราชการระดับอำเภอ และชาวนายังไม่เข้าใจเลยจะทำได้อย่างไร ที่สำคัญพื้นที่การทำนากระจายทั่วประเทศ จะเก็บข้อมูลขึ้นทะเบียนไม่ทันแน่นอน ผมว่าถ้าเปิดประกันราคาข้าวนาปีเลยมีปัญหาแน่ สุดท้ายรัฐบาลจะเดือดร้อนเมื่อชาวนาไม่เอาด้วย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องรับผิดชอบ" นายประสิทธิ์ กล่าว
วันนี้ข้อมูลชาวนากระจัดกระจายมาก ชาวนาส่วนใหญ่ 70% อาศัยการเช่าที่นา จากจำนวนชาวนาทั้งประเทศ 20 ล้านคน หรือประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งชาวนาเหล่านี้ก่อนขึ้นทะเบียนได้เขาต้องให้เจ้าของที่ดินเซ็นรับรองโฉนดก่อน กว่าจะหาเจ้าของที่ดินเซ็นรับรองต้องใช้เวลา หากรัฐบาลเร่งรีบเกินไปอาจได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายรัฐบาลก็ได้รับความเสียหายอยู่ดี เพราะข้อมูลกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะตรวจสอบข้อมูลก็ยังไม่มี เรื่องนี้มีผู้ที่รู้เรื่องไม่กี่คน ดังนั้นควรทำความเข้าใจทั้งข้าราชการในพื้นที่และชาวนาให้เข้าใจก่อนนำมาใช้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาตามมา เฉพาะการขึ้นทะเบียนชาวนาจากการสอบถามคาดว่าต้องใช้เวลา 3 เดือน แต่ตอนนี้ดำเนินการได้ไม่ถึง 1 เดือน จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องได้อย่างไร ที่สำคัญราคาประกัน ต้นทุนชาวนาก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ถ้าหากเกิดโรคระบาดกลางคันใครจะรับผิดชอบ
หวั่นเกิดช่องโหว่ชาวนา-โรงสีฮั้วราคา
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ระบบประกันราคาช่วยลดการทุจริตระหว่างโรงสี นักการเมือง ข้าราชการ ที่สำคัญรัฐไม่ต้องเก็บข้าวไว้เอง ไม่ต้องจ้างเซอร์เวเยอร์ตรวจสอบคุณภาพข้าว ไม่ต้องจ้างโรงสีแปรสภาพข้าว ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ ส่วนการประกันราคาเป็นหน้าที่ของโรงสีที่ต้องรับซื้อข้าวไปทั้งหมด รัฐเพียงแต่จ่ายเงินตามราคาประกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา มีนักการเมืองเข้ามาแทรกทุกขั้นตอน มีความยุ่งยาก ชาวนาได้ราคาไม่เต็มตามที่ประกาศ เพราะถูกหักความชื้น ไม่มีโอกาสไถ่ถอนช่วงราคาข้าวสูง เพราะใช้เงินหมดไปก่อน
"ผมว่าวิธีการประกันราคา หากข้อมูลไม่รัดกุม ก็ทุจริตได้เหมือนกัน โรงสีกับชาวนาบางแห่งอาจจะฮั้วกันรับซื้อข้าวต่ำกว่าราคาประกันเพื่อกินส่วนต่างจากรัฐบาลได้เหมือนกัน เมื่อก่อนทุจริตทำร่วมกันระหว่างโรงสี ข้าราชการและนักการเมือง แต่ต่อไปชาวก็ทำได้" นายประสิทธิ์ กล่าว
ค้านจำนำข้าวควบคู่ประกันราคา
นายประสิทธิ์กล่าวว่า การกำหนดราคาประกันที่เฉลี่ยประมาณตันละ 14,700 บาท ถือว่าต่ำเกินไป เพราะข้าวหอมมะลิปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ราคาที่เหมาะสมเบื้องต้นควรอยู่ที่ตันละ 15,000 บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,100 บาทต่อไร่ หลายฝ่ายอาจมองว่าชาวนาได้กำไรมาก แต่ในทางกลับกัน หากเทียบเป็นตันแล้ว ต้นทุนการผลิตจะสูงถึงตันละ 18,000 บาท หมายถึงเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย
นอกจากนี้ การประกันราคากับโครงการรับจำนำไม่ควรดำเนินการควบคู่กัน เพราะจะส่งผลให้เกิดความซ้ำซ้อน เกษตรกรจะสับสนราคาที่กำหนดขั้นต้น และส่งข้าวร่วมโครงการที่กำหนดราคารับซื้อสูง จนเป็นภาระรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาอีก อีกทั้งรัฐบาลควรเตรียมความพร้อมในด้านคุณภาพและมาตรฐานข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการปลอมปนตามมา
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |