นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า ทีทีอาร์หารือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การระบายข้าวไทย ซึ่งมีแนวคิดใหม่ว่า รัฐบาลไทยจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาเซียน เรื่องความมั่นคงด้านอาหารในอาเซียน โดยรัฐบาลจะเจรจาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศตะวันออกกลาง เพื่อรับรองว่ากรณีที่ประเทศนั้นๆ เกิดการขาดแคลนข้าว หรือมีความต้องการข้าวฉุกเฉิน ไทยจะส่งข้าวไปขายให้ทันที แต่ภายใต้ข้อตกลงนี้ประเทศนั้นๆ จะต้องมีการสั่งซื้อข้าวจากไทยด้วย
“วันนี้เราจะเปลี่ยนจากการขายข้าวแข่งกับประเทศอื่นๆ เป็นการการันตีความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะข้าว โดยไทยจะเป็นแหล่งสำรองข้าวให้ประเทศนั้นๆ ภายใต้กรอบการเจรจาพหุภาคี แต่มีข้อตกลงว่าประเทศที่ทำข้อตกลงกับไทย ต้องซื้อข้าวจากไทยด้วย ผมจะเสนอรายละเอียดให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีพิจารณาและผลักดันต่อไป” นายสุทัศน์ กล่าว
นายสุทัศน์ ระบุว่า ขณะนี้การเจรจาให้ฟิลิปปินส์ลดภาษีนำเข้าข้าวภายใต้กรอบอาฟตา ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ส่วนการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ ที่เวียดนามได้รับอเดอร์ไปนั้นมีข้อสังเกตว่าได้ออเดอร์มากกว่าที่ผลิตได้ จึงเป็นไปได้สูงที่เวียดนามนำเข้าข้าวจากกัมพูชาและลาวไปส่งออกแทน ขณะนี้พบว่าเวียดนามไปตั้งโรงสีข้าวในกัมพูชาจำนวนมาก
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การประมูลข้าวฟิลิปปินส์ล่าสุด เวียดนามชนะราคา 664 ดอลลาร์ต่อตัน ถือเป็นการแตะเบรกราคาในช่วงสั้นๆ ส่งผลให้ราคาข้าวไทยลดลง 15 ดอลลาร์ แต่ยังมั่นใจว่าหลังอินเดียเคลื่อนไหวในตลาด เช่น มีการขอซื้อข้าวแบบจีทูจีจากไทยหรือเวียดนามก็ตาม ราคาข้าวในตลาดโลกจะทะยานขึ้นทันทีและราคาจะแตะ 800 ดอลลาร์ต่อตัน
สำนักข่าวเสียงอเมริการายงานผ่านเว็บไซต์ อ้างความเห็นนักวิเคราะห์ว่า ราคาข้าวโลกจะไต่ระดับสูงขึ้น ในช่วง 2-3 เดือนหน้า เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ผลิตบางรายที่เผชิญภาวะแห้งแล้งจะมีผลผลิตตกต่ำ โดยราคาอาจพุ่งขึ้นไประดับเดียวกับปีที่แล้ว
นายจารึก สิงหปรีชา รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ราคาข้าวของไทย อาจได้แรงหนุนจากลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาในตลาด ขณะที่ลูกค้าหลักอย่างจีนและกลุ่มอาหรับ ก็จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
ราคาข้าวในตลาดโลกมีโอกาสพุ่งขึ้นไปใกล้เคียงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือ 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ที่ทำไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว เฉพาะเดือนนี้ ราคาข้าวส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทะยานขึ้นจาก 550 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 650 ดอลลาร์ต่อตัน
ด้าน นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และความวิตกเกี่ยวกับภาวะแห้งแล้งในอินเดีย จีน และออสเตรเลีย เป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวในตลาดโลก หากดอลลาร์อ่อนค่าลงเรื่อยๆ ราคาข้าว น้ำมัน ทองคำ และโภคภัณฑ์อื่นๆ จะไต่ระดับสูงขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|