นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (18 ก.พ.) ได้รายงานผลการตรวจสอบการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูกาลผลิตปี 2551 และผลการระบายข้าวให้ที่ประชุมรับทราบ ว่า มีข้าวกว่าครึ่งหนึ่งเป็นข้าวที่มีความชื้นสูง ไม่มีคุณภาพ เก็บไว้นาน เมื่อนำไปขายก็ขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนจากการระบายข้าว 3.97 ล้านตัน เป็นเงินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นข้าวที่อยู่ในโกดังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจำนวน 1.97 ล้านตัน และข้าวในโกดังขององค์การคลังสินค้าอีก 2.773 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 เพื่อให้มีความชัดเจนว่าข้าวที่รับจำนำเข้ามาในปี 2551 มีคุณภาพ ปริมาณ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ และการระบายข้าวออกสู่ตลาดนั้น เป็นการขายข้าวในราคาที่เหมาะสมหรือไม่
กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า การดำเนินโครงการรับจำนำและการระบายข้าวนาปรัง ปี 2551 มีความโปร่งใส แต่เพื่อความชัดเจนนายกฯ จึงให้นายกอร์ปศักดิ์ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การที่มีผลการตรวจสอบพบว่ามีข้าวไม่มีคุณภาพอยู่ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2551 จำนวนมาก โดยเฉพาะข้าวหักและข้าวเหลือง ซึ่งเป็นข้าวเก่า จึงน่าเชื่อได้ว่าน่าจะมีการนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนรับจำนำ
“ไชยา”เซ็นขาย2ล็อต2.5ล้านตันต่ำกว่าทุน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2551 นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ในขณะนั้น ได้ลงนามอนุมัติขายข้าวที่เปิดประมูลเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551 ปริมาณรวม 1 ล้านตัน จากที่เปิดให้เสนอราคา 1.37 ล้านตัน เป็นการอนุมัติระบายข้าวครั้งที่ 2 สมัยที่นายไชยา เป็น รมว.พาณิชย์ โดยผู้ส่งออกที่ได้รับมากที่สุด ในส่วนข้าวขาวเพื่อส่งออก ได้แก่ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ปริมาณ 2.8 แสนตัน มูลค่า 3.7 พันล้านบาท รองลงมา คือ บริษัท ข้าวไชยพร ปริมาณ 2.65 แสนตัน มูลค่า 3.4 พันล้านบาท และบริษัท แคปปิตอลไรท์ จำกัด ปริมาณ 1.25 แสนตัน มูลค่า 1.6 พันล้านบาท
ส่วนข้าวหอมมะลิเพื่อขายใน/นอกประเทศ 1.9 แสนตัน มูลค่า 3.2 พันล้านบาท ได้แก่ บริษัท ไชยพร ปริมาณ 3.7 หมื่น บริษัทพงษ์ลาภ ปริมาณ 3.28 หมื่นตัน และบริษัท นครหลวงค้าข้าวปริมาณ 2.44 หมื่นตัน
ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยในส่วนข้าวนาปรัง ตันละ 1.6-1.7 หมื่นบาท แต่ต้นทุนข้าวนาปรังที่รับจำนำในราคาประมาณ 2 หมื่นบาท ทำให้ขาดทุนเฉลี่ยตันละเกือบ 5 พันบาท โดยเปิดประมูลให้ยื่นซองวันที่ 28 พ.ย. และวันที่ 29-30 พ.ย. เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เมื่อถึงวันจันทร์ที่ 1 ธ.ค. นายไชยา ก็มีการเซ็นอนุมัติขายทันที ทั้งๆ ที่รายละเอียดต่างๆ ยังทำไม่ครบถ้วน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคในวันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งทำให้นายไชยาต้องพ้นตำแหน่ง
ประมูลรอบแรกขายต่ำกว่าตลาด
ส่วนการเปิดประมูลข้าวครั้งแรก เปิดให้ยื่นซองเสนอราคา 5 พ.ย. 2551 และเปิดซองราคา 10 พ.ย. 2551 ปริมาณ 3.1 ล้านตัน แต่อนุมัติขายเมื่อวันที่18 พ.ย. 2551 ปริมาณ 1.5 ล้านตัน โดยอนุมัติขายข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมจังหวัด และข้าวหอมปทุมธานี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก จำนวนทั้งสิ้น 514,392.32 ตัน มูลค่า 7,992.32 ล้านบาท และข้าวขาวเพื่อการส่งออก จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,079,339.175 ล้านตัน มูลค่า 12,128.79 ล้านบาท
ในส่วนของข้าวเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ได้อนุมัติการขายให้กับเอกชน 10 ราย อาทิเช่น ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำนวน 3.55 แสนตัน สยามอินดิก้า 8.9 หมื่นตัน นำแสงค้าข้าว 1.4 หมื่นตัน โรงสีโชควรลักษณ์ 4.9 พันตัน โรงสีพิจิตร2 ไรซ์ 2 หมื่นตัน และอื่นๆ อีก 2.8 หมื่นตัน
ส่วนข้าวเพื่อการส่งออก อนุมัติขายให้เอกชน 12 รายอาทิเช่น สยามอินดิก้า4.86 แสนตัน พงษ์ลาภ 1.19 แสนตัน ไชยพรค้าข้าว 1.94 แสนตัน เอเชียโกลเด้นไรซ์ 1.24 แสนตัน นครหลวงค้าข้าว 9.5 หมื่นตัน และอื่นๆ ประมาณ 6 หมื่นตัน
การอนุมัติขายข้าวช่วงนั้นขายในราคาต้นทุนที่รับจำนำเข้ามา โดยไม่คำนึงถึงราคาตลาดปัจจุบัน โดยต้นทุนรับจำนำข้าวหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 1.8 หมื่นบาท ข้าวขาวตันละ 1.2 หมื่นบาท ขณะที่ราคาตลาดขณะนั้น ข้าวหอมมะลิตันละ 2.5 หมื่นบาท ข้าวขาวตันละ 1.8 หมื่นบาท ทำให้รัฐขายได้น้อยกว่าที่ควรจะได้เป็นเม็ดเงิน6พันถึง1 หมื่นล้านบาท
กขช.สั่งรับจำนำข้าวนาปรัง2.5ล้านตัน
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ยังเดินหน้าที่จะใช้นโยบายประกันราคาข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ราคาดีขึ้น โดยวางเป้าหมายที่จะรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังอีก 2.5 ล้านตัน ส่วนการกำหนดราคาข้าวเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่ต้องพิจารณาอีกครั้ง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้เพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมจังหวัดในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2551/2552 จากตันละ 1.3 หมื่นบาท เป็น 1.4 หมื่นบาท พร้อมกับให้ขยายระยะเวลารับจำนำออกไปจนถึงวันที่ 16 มี.ค.นี้
นอกจากนั้น เห็นชอบมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูกาลผลิตปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค.นี้ อีกจำนวน 2-2.5 ล้านตัน จากปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาด 7.8 ล้านตัน ส่วนราคารับจำนำต้องรอให้คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ พิจารณา
นายกส. ชาวนาขอตันละ1.3หมื่นบาท
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ความชื้น 15% ราคาตันละ 1.3 หมื่นบาท ข้าวหอมปทุมธานี ราคาตันละ 1.35 หมื่นบาท และข้าวเหนียว ตันละ 9.5 พันบาท “ทราบว่ารัฐบาลจะมีการโยกเงินในโครงการรับจำนำข้าวนาปีที่ใช้ไม่หมดไปใช้รับจำนำข้าวโพด ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะชาวนาเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลควรเก็บเงินก้อนนี้ไว้ช่วยชาวนามากกว่านำไปรับจำนำข้าวโพด” นายประสิทธิ์กล่าว
“อลงกรณ์”ชงนายกฯ ถกเวียดนามค้าข้าว
นายอลงกรณ์ กล่าวถึง ผลการเดินทางเยือนประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ได้เสนอที่จะทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับไทย ด้านความร่วมมือค้าข้าวร่วมกัน โดยจะมีความร่วมมือใน 4 ระดับ คือ ระดับรัฐบาล ระดับผู้ส่งออก ระดับชาวนา และระดับวิชาการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีของ 2 ประเทศจะหารือกันอีกครั้ง ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ปลายเดือนนี้ ก่อนจะมีการลงนามเอ็มโอยู หลังจากนั้น สองฝ่ายกำหนดจะมีสายด่วนระหว่างกัน เพื่อปรึกษาหารือเรื่องข้าวเป็นการเฉพาะ
“เวียดนามกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับไทย โดยผู้บริหารระดับสูงจะทำเอ็มโอยูกับไทยเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะกับชาวนา ซึ่งหาก ราคาส่งออกสูง ราคาข้าวเปลือกของชาวนาก็จะสูงตามไปด้วย”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|