|
"food BRC"ระเบียบใหม่ ผู้ส่งออกเต้นข้าวถุงต้องผ่านมาตรฐาน
|
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวกำลังเร่งเตรียมความพร้อมในทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้า "The British Retail Consortium หรือ BRC" ซึ่งเกิดจากสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ที่รวมกลุ่มกันขึ้นจากองค์กรค้าปลีกต่างๆ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 แต่ยังไม่ได้บังคับใช้จริง
แต่ล่าสุดทางผู้นำเข้าที่อังกฤษแจ้งให้ผู้ผลิตในไทยรับทราบข้อมูลของ BRC เพื่อปรับตัว หากทำไม่ได้ผู้นำเข้าจะไม่สามารถเข้าไปวางขายในห้างค้าปลีกของอังกฤษได้ โดยผู้ส่งออกเตรียมประสานไปที่กรมการค้าต่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
การใช้ BRC ผู้ส่งออกมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะการวางระบบการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นต้นทุนของเรา ต้องมีการเตรียมผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ เพราะทาง
ผู้นำเข้าจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ และให้การรับรองแบบปีต่อปี ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่ากับการส่งออกไปอังกฤษหรือไม่ เพราะมีปริมาณนำเข้าต่อปีน้อย แต่เรากลัวว่ามาตรฐานนี้จะประกาศใช้ทั่วยุโรป ซึ่งเท่ากับว่าหากไม่ผ่านก็จะไม่สามารถส่งออกไปยุโรปได้
"มาตรฐาน BRC มีเงื่อนไขสูงกว่ามาตรฐาน HACCP ซึ่งเป็นมาตรฐานเดิมที่บังคับใช้กันอยู่ในสหภาพยุโรป ดังนั้นหากผู้ประกอบการต้องการจะปรับมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐาน BRC จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าข้าวเพื่อไปจำหน่ายยังห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรปปรับสูงขึ้น จนไม่คุ้มค่ากับปริมาณการนำเข้า ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก แต่หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวก็เสี่ยงที่จะถูกยกเลิกการนำเข้าจากคู่ค้าในอังกฤษ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การยกเลิกนำเข้าในตลาดสหภาพยุโรปอื่นๆ ด้วย" นายเจริญกล่าว
ขณะนี้กำลังติดตามการดำเนินงานของบริษัทสมาชิกว่า มีบริษัทใดผ่านการตรวจสอบแล้วบ้าง แต่คงยังมีจำนวนน้อยราย รวมถึงต้องติดตามประเมินสถานการณ์คู่แข่งอื่น เช่น เวียดนามด้วยว่าจะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเวียดนามไม่ได้ส่งสินค้าไปยังห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เหมือนไทย
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า ปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลให้ตลาดส่งออกสำคัญหันมาใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (non tariff barriers หรือ NTBs) กับสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น
โดยส่วนใหญ่จะนิยมกำหนดมาตรการออกมาในรูปแบบของการวางมาตรฐานด้านสุขภาพ และอนามัยของประชาชนที่สูงกว่าปกติ เช่น หลายประเทศมีการตรวจสอบเข้มข้นจนทำให้ผู้ส่งออกต้องหันปรับตัวอย่างยากลำบาก เพื่อรักษาฐานตลาดเดิมไว้ เช่น ญี่ปุ่นมีการตรวจสอบสารปนเปื้อน และพบสารแอฟลาทอกซินปริมาณน้อยมาก หรือจีนตรวจสอบการปนเปื้อนของสารตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรฐาน BRC นี้เกิดขึ้นจากสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ที่รวมกลุ่มกันขึ้นจากองค์กรค้าปลีกต่างๆ เช่น Tesco, Sainsbury"s, Iceland Foods, Waitrose, Safeway, The Co-operative Group, and Asda Stores โดยให้เหตุผลในการจัดทำมาตรฐานขึ้นว่า เพื่อลดการซ้ำซ้อนจากการตรวจประเมินสำหรับผู้ประกอบการ ที่ต้องการส่งสินค้าให้กับองค์กรค้าปลีกในอังกฤษที่ใช้ตราสินค้าของตน (house brand) ที่จะต้องมีความปลอดภัย และคุณภาพ และสามารถตรวจประเมินโดยบุคคลที่สาม เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดง
ความมุ่งมั่นในการสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร สร้างระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมาย มีระบบในการวัดสมรรถนะด้านความปลอดภัยด้านอาหาร รวมทั้งวิธีการติดตาม วัดผล ความมีประสิทธิผล ลดของเสีย การแก้ไข และการเรียกคืนสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ส่งออกที่ยังไม่ได้ผลิตภัณฑ์ภายใต้ house brand ของห้างค้าปลีกก็ยังไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
|
|
|
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|