นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะมีการหารือกับผู้ส่งออกข้าววันที่ 23 มิ.ย.นี้ เนื่องจากมีการทำหนังสือร้องเรียนมาเขาเสียหายอย่างไร หากมีความไม่โปร่งใสอย่างไร ก็ต้องตรวจสอบกัน หลังจากที่สั่งให้ยกเลิกการประมูลข้าว 2.6 ล้านตัน ซึ่งมีผู้ส่งออกที่ชนะการประมูล 17 ราย คงจะมีการพูดคุยกันก่อน
อย่างไรก็ตาม ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด เพื่อดูว่าเกิดความเสียหายอย่างไร มีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่โปร่งใสอย่างไร ที่จะต้องไปตรวจสอบ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงพาณิชย์จะสรุปรายงานมาให้ได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการโยนเรื่องไปมาระหว่างตนและนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ไปแล้ว ปัญหามีอยู่ว่า การทำงานของผู้ปฏิบัติ ตรงกับหลักเกณฑ์และมติครม.หรือไม่ เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องสรุปเรื่องมาให้ทราบ
นายกฯย้ำประมูลข้าวก่อนมติครม.ทำได้
ส่วนกรณีที่นางพรทิวาท่องคาถาคำอยู่อย่างเดียวว่า การยกเลิกประมูลข้าวเป็นคำสั่งของนายกฯ นั้น นายกรัฐมนตรีหัวเราะก่อนจะกล่าวว่า ตนบอกว่าให้ปฏิบัติตามมติ ครม. ถ้าเป็นการประมูลก่อนที่จะมีมติ ครม.ก็ไม่มีปัญหา ถ้าประมูลก่อนแล้วทุกอย่างเสร็จก่อน ก็ไม่ขัดกับมติ ครม.
ต่อข้อถามว่า จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนอย่างไร หลังเกิดกรณียกเลิกการประมูลข้าวครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลักที่ให้ไว้คือ ถ้าเกิดความเสียหายกับเอกชน โดยที่เอกชนเข้ามาในสัญญาโดยบริสุทธิ์และสุจริต เอกชนก็ต้องได้รับความเป็นธรรม
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการแอบเซ็นอนุมัติขายข้าวของรัฐบาลในวันหยุดก่อนมีมติ ครม.ยกเลิกประมูลข้าว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่เห็น ขอดูวันที่เซ็นให้ชัดก่อนว่าแต่ละเรื่องเกิด ขึ้นเมื่อไรอย่างไร
อคส.สั่งเอกชนส่งผลกระทบเลิกสัญญา
นายยงยศ ปาละนิติเสนา รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยภายหลังประชุมกับผู้ชนะประมูลข้าวรัฐ 2.6 ล้านตัน ว่า ผู้ส่งออกที่ชนะประมูลและได้ชำระค่าข้าวแล้ว ต้องการให้ อคส.จ่ายข้าวโดยด่วน ให้เหตุผลว่าผู้นำเข้าข้าวได้ส่งเรือ มารับมอบสินค้าแล้ว
ส่วนการยกเลิกสัญญา เอกชนส่วนใหญ่สงวนท่าที จึงให้แต่ละรายไปจัดทำรายละเอียดและความจำเป็นของผู้ส่งออก ที่ไม่อาจยกเลิกสัญญาได้หรือยกเลิกได้เพียงบางส่วน ซึ่งได้ให้แนบเอกสารหลักฐานคำสั่งซื้อและใบอนุมัติส่งออก ภายในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ โดยจะรวบรวมข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดเสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและสั่งการว่าให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
“ตอนนี้คงระงับการให้ขนข้าว จนกว่าจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการออกมาว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร การพบปะกันวานนี้ (19 มิ.ย.) ค่อนข้างจะสงวนท่าที เพราะเป็นความลับของแต่ละบริษัท ความเดือดร้อนแตกต่างกัน ก็ไม่มีใครกล้าระบุว่าจะเลิกหรือเอาข้าวอีกเท่าไร จึงต้องให้ทำเป็นหนังสือเสนอเข้ามาเป็นรายๆ ซึ่งในแง่ของกฎหมายสัญญานั้นทำถูกต้องและเป็นกรรมสิทธิ์สมบูรณ์ของผู้ซื้อ ผมเห็นว่าวิธีการนี้เป็นทางออกและประนีประนอมมากที่สุด” นายยงยศ กล่าว
เอกชนถกนายกฯขอข้าวส่วนที่จ่ายเงินแล้ว
นายวิชัย ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงสีข้าวเจริญผล จำกัด กล่าวว่า ในการหารือกับ อคส. ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยการเข้าพบนายกฯ เอกชนไม่ขัดข้อง หากจะยกเลิกการประมูลข้าว แต่อยากให้เห็นใจเอกชน ในส่วนที่ได้ทำสัญญาและวางเงินซื้อข้าวบางส่วนกับภาครัฐแล้ว โดยในจำนวน 17 ราย หากคิดเป็นปริมาณข้าว ที่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะมีเพียงไม่กี่แสนตัน จึงขอโอกาสให้เอกชนที่ทำสัญญาซื้อขายข้าวดังกล่าว ให้นำข้าวไปดำเนินธุรกรรมได้ ส่วนกรณีการวางเงินค้ำประกัน 5%ของปริมาณข้าวที่จะซื้อขายนั้น รัฐบาลจะต้องคืนให้เอกชน
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ กล่าวว่า ทางบริษัทยืนยันที่จะขอรับมอบข้าวตามสัญญาในส่วนที่มีการชำระเงิน 100% ไปแล้ว 3.7 หมื่นตัน มูลค่า 700 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ได้รับมอบไปแล้ว 1 หมื่นตัน จากคลังของ อคส.และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จึงต้องการรับมอบที่เหลือทั้งหมด เพราะเป็นไปตามสัญญาที่ระบุไว้ในข้อ 12 ว่า ข้าวที่ชำระเงินแล้วจะถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท และได้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องการดำเนินคดียังไม่ได้หารือกัน เพราะต้องการรับฟังความคิดของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก่อน
แบะท่าไม่ฟ้องพร้อมร่วมประมูลใหม่
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ในการพบกับนายกฯ จะขอให้อนุมัติข้าว ในส่วนที่ชำระเงินแล้วปริมาณ 2.4 แสนตัน จากทั้งหมด 2.6 ล้านตัน ให้เอกชนสามารถเข้าไปขนย้ายได้ เพราะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อลูกค้าต่างประเทศรออยู่ ส่วนปริมาณข้าวที่เหลืออีกกว่า 2.4 ล้านตัน หากรัฐบาลจะยกเลิก เอกชนยินยอม และจะไม่มีการฟ้องร้องภาครัฐแต่อย่างใด
"หากล้มประมูลและมีการเปิดประมูลใหม่ เราก็ยินดีจะร่วม เพื่อยืนยันสถานะเป็นผู้ส่งออก มีการค้าขายจริง ไม่ได้นำข้าวมาเวียนเทียนในโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล และขณะนี้ข้าวในตลาดส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่สต็อกรัฐบาลหมด เอกชนจำเป็นต้องซื้อข้าวจากรัฐบาล แต่การระบายควรทยอยระบายครั้งละ 5 แสนตัน ถึง 1 ล้านตัน ไม่ควรระบายล็อตใหญ่ เพราะจะกระทบกับเสถียรภาพของราคาข้าวในตลาด และรอดูช่วงจังหวะที่เหมาะสมในการระบาย"
สำหรับการหารือร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) นั้น ทาง อคส.ได้ชี้แจงสาเหตุการชะลอรับมอบข้าวและยกเลิกสัญญาการประมูล ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ โดย อคส.ได้เสนอ 2 แนวทาง คือ 1.หากยกเลิกสัญญาข้าวทั้งหมด เอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือชดเชยอย่างไร และ 2.หากมีการอนุมัติให้ขนย้ายเฉพาะข้าวในส่วนที่ชำระเงินทั้งหมด แล้วยกเลิกในส่วนที่เหลืออีก 2.4 ล้านตัน จะมีการฟ้องร้องภาครัฐหรือไม่
ชงครม.ขายมันสำปะหลัง-ข้าวโพด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 23 มิ.ย.นี้ นางพรทิวา ได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์การระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังปี 2551/2552 ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี 1.การออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไปและเปิดให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ เสนอปริมาณและราคาซื้อตามคุณภาพที่เซอร์เวเยอร์รับรองเป็นรายคลังสินค้า ในปริมาณเต็มจำนวนสินค้าที่อยู่ในคลัง 2.การเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ และ 3.นำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเสนอขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต)
ส่วนระยะเวลาการระบายมันสำปะหลังออกจากสต็อก ไม่ว่าจะเป็นการระบายโดยวิธีการใดก็ตาม ต้องทำให้เสร็จช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2552 ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ ผู้ซื้อต้องส่งสินค้าออกเที่ยวแรกเดือน ก.ค.2552 เกณฑ์ราคาในส่วนของมันเส้นใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง ณ หน้าโกดังเก็บสินค้าเป็นเกณฑ์ และให้ใช้ราคา เอฟโอบี เกาะสีชัง หักด้วยค่าใช้จ่ายการส่งออก ตันละ 175 บาท ขณะนี้มีมันเส้นในสต็อกจำนวน 3.4 ล้านตัน ส่วนแป้งมันใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลัง ณ หน้าโกดังเก็บสินค้าเป็นเกณฑ์ และให้ใช้ราคา เอฟโอบี ท่าเรือกรุงเทพฯ หักด้วยค่าใช้จ่ายการส่งออกตันละ 175 บาท ขณะนี้ มีแป้งมันในสต็อก 8 แสนตัน และจะมีการนำแป้งมันขายในตลาดเอเฟตอีก 2 แสนตัน
ส่งกฤษฎีกาตีความขายจีทูจี
ส่วนการระบายแป้งมันแบบจีทูจี กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเร่ง ตีความว่าการเจรจาขายแป้งมันแบบจีทูจี จะเข้าข่าย มาตรา 190 หรือไม่ ต้องตีความให้เสร็จก่อนการประชุม ครม.วันที่ 23 มิ.ย.นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาเคยส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้แล้ว แต่ผลการตีความยังไม่สรุป ขณะนี้มีรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐบาลหลายประเทศสนใจซื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทย ส่วนมันเส้นรัฐบาลที่สนใจสั่งซื้อ เช่น จีน กลุ่มประเทศอียู และญี่ปุ่น ส่วนกรณีแป้งมัน รัฐบาลที่สนใจสั่งซื้อคือจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง
นอกจากนั้นในการประชุมครม. กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการแทรกแซงของรัฐบาล โดยใช้วิธีออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้เอกชนหรือองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ต้องเป็นการระบายสินค้าออกต่างประเทศเท่านั้น ส่วนเกณฑ์ราคาจะใช้ราคาชิคาโก (CBOT) โดยต้องซื้อขายให้เสร็จภายในเดือนมิ.ย.-ส.ค.นี้ ขณะนี้ข้าวโพดที่เก็บไว้ในสต็อก 1 ล้านตัน
"กอร์ปศักดิ์"สั่งอคส.ฟันเกษตรสวมสิทธิ
แหล่งข่าวระบุว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประธานคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติ ได้กำชับว่าต้องการให้การระบายสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิด ออกต่างประเทศทั้งหมด และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ผลผลิตเหล่านี้เวียนกลับเข้ามาในประเทศอีก
นอกจากนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ยังกำชับกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินคดีกับเกษตรกรที่ทุจริตในโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตร เช่น กรณีข้าวโพดที่พบว่ามีการสวมสิทธิเกษตรกร กรณีสต็อกลม และการแจ้งปริมาณผลผลิตสูงกว่าความเป็นจริง รวมทั้งแก้ปัญหาช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การทุจริต
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |