www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ชงกขช.เปิดประมูลสินค้าเกษตร ข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลังใช้เงื่อนไขยืนราคา 20 วัน


นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด เปิดเผยว่า คณะทำงานได้เสนอยุทธศาสตร์ระบายข้าวเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบาย ข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเบื้องต้นเสนอให้ปรับเกณฑ์การระบายให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นสำคัญของการระบายคือจะทยอยระบายครั้งละเท่าไหร่ ต้องรอให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เคลียร์สัญญากับผู้ส่งออกก่อนเพื่อทราบสต๊อกชัดเจน และระยะเวลาเมื่อไหร่ โดยข้าวน่าจะระบายก่อนเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอินเดียจะมีการส่งออก และจะได้ไม่กระทบต่อราคาข้าวนาปีฤดูกาลใหม่ของไทยจะออกมาในเดือน ต.ค.-พ.ย ส่วนข้าวโพดต้องระบายก่อนวันที่ 28 ก.ค.นี้ ด้านมันสำปะหลังจะทยอยระบายในระยะถัดไป หลังจากต่อรองราคาแล้วจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคงจะไม่เป็นเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ไม่ผ่าน ครม. เห็นชอบ ทำให้ต้องยกเลิก แต่ครั้งนี้คงดำเนินการได้เร็ว และเป็นตามวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้กระทบราคาในประเทศมากนัก ลดภาระของรัฐบาลในการจัดเก็บ และรักษาส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก

โดยยุทธศาสตร์ได้จากการประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า อาทิ สถานภาพการผลิต สถานการณ์ด้านการตลาด ระดับราคาตลาดโลก ราคาภายในประเทศ และตัวเลขสต๊อกซึ่งมีปริมาณราว 5-6 ล้านตัน โดยกำหนดเป็นเกณฑ์ระบายเบื้องต้น มี 3-4 วิธี คือ 1) การระบายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) บางส่วนเพื่อดึงปริมาณซัพพลายออกจากตลาด ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า สามารถทำได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190

2) การเปิดให้เอกชนเข้าประมูล โดยอาจจะผ่อนปรนให้เป็นทั้งส่งออกและทั้งภายในประเทศ แล้วแต่กรณี 3) การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) บางส่วน และ 4) การบริจาคให้กับองค์กรสาธารณะระหว่างประเทศ เช่น องค์กรสหประชาชาติที่ได้เสนอขอรับบริจาคหรือการจำหน่ายในราคามิตรภาพ ซึ่งผลดีของวิธีการนี้คือการดึงปริมาณซัพพลายข้าวออกจากตลาดได้บางส่วน และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศทั่วโลกในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญ

ทั้งนี้ขั้นตอนการระบายข้าวและสินค้าเกษตรชนิดอื่นจะมีทั้งหมด 4-5 ขั้นตอน คือ 1) คณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ การระบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิด 2) เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านการตลาดสินค้าเกษตรทั้งหมดซึ่งมีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์เป็นประธาน 3) เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายสินค้าข้าวโพดและสินค้ามันสำปะหลังซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนสินค้าข้าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 5) คณะทำงานด้านการระบายซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน จะเป็นผู้ดำเนินการระบายและต่อรองราคาแทนองค์การคลังสินค้า (อคส.) ทั้งหมด และ 4) เสนอผลการพิจารณาต่อรองราคาขั้นสุดท้ายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็น ผู้ตัดสินใจขายหรือไม่

"ภาคเอกชนไม่ต้องกังวลเรื่องการล้มประมูล เราจะมีเกณฑ์ให้ยืนราคาที่เสนอเข้ามาเป็นเวลา 20 วัน หลังจากนั้นหากยังไม่ผ่านตามกระบวนการ เท่ากับรัฐบาลก็ต้องยอมรับผลที่เอกชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงราคาที่เสนอเข้ามาได้ ซึ่งหากรัฐบาลทำเร็วก็ได้เงินเร็ว หากทำช้าก็ต้องเสี่ยงเหมือนกัน แต่ก็ยอมรับว่าการระบายสินค้าเกษตรมีโอกาสขาดทุนแน่นอน หากคิดหักจากราคาจำนำ และหากเทียบกับการประมูลครั้งก่อนที่ยกเลิกไป นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ตลาดได้เปลี่ยนแปลงไป และคุณภาพของสินค้าลดลงจากอายุการจัดเก็บที่ยาวนานขึ้น" นางชุติมากล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.