|
ผู้นำเข้าเมินข้าวไทยอ้างราคาสูง เอกชนแนะรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่น
|
สถานการณ์การส่งออกข้าวของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 กรกฎาคม 2552 มีปริมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลง 26.55% ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือเวียดนามส่งออกข้าวครึ่งปีแรก สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 4 ล้านตันไปแล้ว จึงจะปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกปีนี้ใหม่เป็น 6 ล้านตัน ส่วนไทยยังคงเป้าหมายเดิม 8.5 ล้านตัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ยอดการส่งออกของไทยลดลงมาก คือความเชื่อมั่นจากผู้นำเข้า และส่งออกจากนโยบายการระบายข้าวที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้ไทยมี สต๊อกข้าวในประเทศสูงหลายล้านตัน แต่ไม่สามารถระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกได้
ผู้นำเข้าเมินซื้อข้าวแบบจีทูจี
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันแนวคิดให้ไทยระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) แต่เมื่อวันที่ 13-14 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการประชุม Thailand Rice Convention 2009 ขึ้น โดยผู้นำเข้ารายสำคัญที่เข้าร่วมงาน เช่น บริษัทปาดิเบราส เนชั่นแนล เบอร์ฮัด (เบอร์นาส) ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดการซื้อขายข้าวของรัฐบาลมาเลเซีย องค์กรจัดซื้อข้าวบูล็อกจากอินโดนีเซีย และองค์กรจัดซื้อข้าวจากอิหร่าน หรือ GCC ได้เข้าพบหารือกับ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ โดยผู้นำเข้าทั้งหมดระบุว่า ยังไม่มีความสนใจที่จะสั่งซื้อข้าวในขณะนี้
"ผู้นำเข้าให้เหตุผลที่ไม่สั่งซื้อข้าวไทยช่วงนี้ เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 100-150 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นผลจากนโยบายรับจำนำราคาสูงจนบิดเบือนกลไกตลาด และอินเดียกำลังจะกลับมาส่งออกอีกครั้งราวเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในส่วนของข้าวนึ่งอาจจะได้ผลกระทบลดลง เพราะเดือนที่ผ่านมาลูกค้าได้เร่งนำเข้าข้าวไทย หลังจากอินเดียประกาศชะลอการส่งออกชั่วคราว ทำให้ยอดทะลุ 3 แสนตันไป แต่ก็เริ่มลดลงในด้านปริมาณ คาดว่าจะเห็นผลเดือนนี้ ส่วนในด้านราคายังทรงตัว" แหล่งข่าวกล่าว
โดยจากการสอบถามกับผู้นำเข้าทั้ง 3 รายทราบว่า ในส่วนของบูล็อกแจ้งว่าไม่ต้องการซื้อข้าวในขณะนี้ แต่ยินดีที่จะทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน (MOU) ไว้ก่อน แต่หากจะซื้อจะต้องหารือกันในเรื่องราคาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เบอร์นาดจากฟิลิปปินส์ อ้างถึงปัญหาการซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยในสมัยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่เจรจาต่อรองแต่มอบให้ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวแบ่งโควตาให้สมาชิกแทนก็มีปัญหา ส่วน GCC จากอิหร่านยังมีปัญหาระบบชำระเงิน หลังจากถูกแซงก์ชั่นจากสหประชาชาติ ไทยจึงต้องหาทางแก้ปัญหาระบบการชำระเงินก่อน
นครหลวงฯชี้ครึ่งปีหลังออร์เดอร์หด
ในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการนครหลวงค้าข้าว ให้ความเห็นว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะลำบาก มีออร์เดอร์ไม่มากนัก โดยราคาส่งออกในขณะนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังไม่สูงเท่าครึ่งปีหลังของปี 2551 เช่น ข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ จากปีก่อนเคยสูงสุดถึง 1,200 เหรียญสหรัฐ ข้าวขาว 5% ปรับขึ้นเป็น 560-570 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยถึง 100 เหรียญสหรัฐ
กรณีที่รัฐบาลเลิกสัญญาประมูลข้าว ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความกังวลให้กับลูกค้าของบริษัท ทำให้บริษัทต้องสร้างความมั่นใจว่ามีสินค้าเพื่อจะส่งมอบแน่นอน โดยการไปซื้อข้าวในตลาดที่มีราคาสูงกว่าปกติตันละ 1,000-3,000 บาท
นอกจากนี้การกำหนดนโยบายการระบายข้าวที่ขาดความชัดเจน ยังมีผลต่อการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังของไทย ควบคู่กับปัจจัยภายนอกจากการที่ประเทศคู่แข่งสำคัญโดยเฉพาะอินเดียอาจจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณซัพพลายในตลาดมีมากขึ้น ไทยอาจจะต้องเสียออร์เดอร์ส่งออกข้าวนึ่งที่อาจจะต้องแข่งขันรุนแรง เพราะข้าวนึ่งอินเดียราคาต่ำกว่าไทย นอกจากนี้ยังต้องดูปัจจัยการกำหนดนโยบายแทรกแซงราคาของรัฐบาลด้วย ว่าจะมีการจำนำหรือประกันราคาอย่างไร เพราะยังมีผลต่อการค้าข้าวภายในตลาด
"หากรัฐบาลเปิดประมูลข้าวในรอบต่อไปก็คงจะเข้าร่วมประมูล เพราะตอนนี้รัฐบาลเป็นผู้กุมสต๊อกสูงสุดในตลาด และราคาข้าวในตลาดปรับตัวสูงขึ้นมาก นโยบายของรัฐบาลในเรื่องสต๊อกต้องชัดเจนว่าจะระบายเมื่อไหร่ มีรูปแบบเป็นอย่างไร หากระบายแบบแบ่งประมูลเป็นลอตละไม่มากจะเหมาะสมกว่า และที่สำคัญคือ ผู้ส่งออกอาจจะต้องดูความเสี่ยงว่า รัฐบาลจะยกเลิกสัญญาอีก หรือไม่ ต้องดูควบคู่กับราคาในตลาดอีกที แต่มองว่าราคาในประเทศครึ่งปีหลังอาจจะอ่อนตัว หากรัฐบาลปล่อยสต๊อกและมี ข้าวฤดูกาลใหม่ออกมา" นายวัลลภกล่าว
เอกชนคาดราคาข้าวปีหน้าทรงตัว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองแนวโน้มราคาข้าวในปี 2553 ว่า อยู่ในภาวะทรงตัวและมีแนวโน้มจะลดลง ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ ส่วนราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก ราคาข้าวหอมมะลิมีแนวโน้มจะปรับขึ้นเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นผลมาจากผลผลิตลดลง 10-20%
ทั้งนี้ต้องจับตามองอินเดียที่จะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งอาจจะตัดราคาข้าวในตลาด ทำให้ราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลังลดลง เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาลไทย ทั้งในเรื่องการระบายข้าวและนโยบายแทรกแซงราคาที่ยังไม่ชัดเจน ถ้าหากรัฐบาลหันมาใช้วิธีการประกันราคา เช่น ข้าวหอมมะลิ 14,700 บาท ถือว่ารับได้ ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยกับราคาจำนำที่สูงจนบิดเบือนกลไกตลาด อย่างไรก็ตามนโยบายประกันราคาจะกระทบกับตลาดข้าวขึ้นกับการกำหนดราคาประกันว่าอยู่ที่เท่าไหร่ และรัฐบาลจะเลือก 2 นโยบายควบคู่กัน หรือนโยบายเดียว เพราะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะการค้าเสรีในตลาดข้าว
ถึงวันนี้รัฐบาลในฐานะผู้กุมสต๊อกข้าวหลายล้านตัน จำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับสต๊อกข้าวของตัวเอง หากระบายข้าวออกในตอนนี้มีโอกาสที่จะได้ราคาดี แต่จะระบายในรูปแบบใด ปริมาณเท่าไหร่ ไม่ให้กระทบกับผลผลิตข้าวนาปีที่กำลังจะออกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |
| |
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|