นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่อง "เกษตรยุคใหม่กุมหัวใจเศรษฐกิจไทย" ว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย ซึ่งไทยส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก เช่น ข้าว ยางพารา แต่เกษตรกรไทยยังมีฐานะยากจน ซึ่งต้องพัฒนา 3 ด้าน คือ พัฒนาตัวเกษตรกร พัฒนาการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบชลประทานอย่างมาก โดยงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ กว่า 216,747 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน วงเงิน 179,268 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1 ล้านไร่ เกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 2 ล้านครัวเรือน มีการจ้างงาน 500,000 คน
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ต้องการให้เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเรื่องผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้สู้ราคาในตลาดโลกได้ ปัจจุบันต้นทุนการผลิตข้าวของไทยอยู่ที่ตันละ 7,000 บาท ขณะที่เวียดนามตันละ 5,000 บาท อินเดีย 6,000 บาท อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ต้นทุนการผลิตตันละ 7,000 บาท ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีพื้นที่จำกัด และภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2553 จะเปิดเสรีการค้าอาเซียน หรืออาฟตา จะทำให้ผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะข้าว เมื่อเข้ามาแล้วอาจปนกับข้าวของไทย ทำให้คุณภาพข้าวไทยลดลง กระทบต่อตลาดข้าวระดับบนของไทย ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางมากำหนดเพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น อาจจะต้องให้ผู้นำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านลงทะเบียน หรืออนุญาตให้เฉพาะบางรายเท่านั้น
นายสาโรช อังสุมาลิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรติดลบ ทั้ง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลกระทบต่อคนชั้นล่างโดยตรง จากวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีในการฟื้นตัว
“ภาคการเกษตรของไทยยังกุมหัวใจเศรษฐกิจไทยไม่ได้ เพราะเป็นส่วนเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งภาคเกษตรขณะนี้คิดเป็น 8% ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่รายได้สุทธิครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ประมาณปีละ 100,000 บาท มาจากภาคเกษตร 48,000 บาท ต่ำกว่ารายได้นอกภาคเกษตรที่มีรายได้เข้ามาประมาณ 57,000 บาท แสดงให้เห็นว่ารายได้ภาคเกษตรไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครัวเรือนได้ ต้องหารายได้นอกภาคเกษตรมาจุนเจือ โดยรายจ่ายเฉพาะการบริโภคภาคเกษตรต้องใช้ถึง 80,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นด้านการเกษตรยังต้องพึ่งพาด้านอื่นในการขับเคลื่อน" นายสาโรช กล่าว
นายอนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาภาคเกษตร หัวใจสำคัญต้องมีที่ดิน ต้องเป็นของเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการทำเกษตร มีน้ำ มีการวิจัยและพัฒนา รวมกับภูมิปัญญา มีองค์กรที่เข้มแข็ง และการจำหน่ายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม
“ต่อไปจะต้องจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร และต้องรักษาพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปทำกิจกรรมอื่น หรือถูกครอบครองโดยชาวต่างชาติ และควรจัดสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ สระน้ำขนาดเล็กในไร่นา ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ ควบคุมระบบการผลิตได้” นายอนันต์ กล่าว
ปัจจุบันเกษตรกรมีพื้นที่ทำเกษตรเฉลี่ยครัวเรือนละ 22 ไร่ ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 812,300 ครัวเรือน จากเกษตรกรทั้งหมด 5.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 14% โดยเฉพาะภาคกลางเกษตรกรต้องเช่าที่ดินทำกินถึง 62% เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ไข ขณะที่ปัจจัยน้ำมีระบบชลประทานเพียง 22% ที่เหลือต้องพึ่งพิงน้ำฝน ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |