นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (19 ต.ค.) มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปี 2552/2553 และเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติวันนี้ (20 ต.ค.) ประกอบด้วย 6 โครงการ ซึ่ง 1 ใน 6 โครงการดังกล่าว คือ โครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกนาปี 2552/2553 ด้วยการตั้งโต๊ะซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รับซื้อผ่านโรงสี ในราคาอ้างอิงที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ และเก็บรักษาไว้ในรูปข้าวเปลือกและเก็บไว้ก่อนมีจำหน่ายออก
ทั้งนี้จะมีการเสนอให้ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในการรับซื้อข้าวครั้งนี้ และของบกลางปี 2553 จำนวน 200 ล้าน ใช้บริหารโครงการและของบคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) 660 ล้านบาท ใช้ในการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลา 6 เดือน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรนั้น รัฐบาลตั้งเป้ารับซื้อปริมาณ 2 ล้านตัน โดยจะรับซื้อเป็นระยะๆ ในราคาและปริมาณที่เหมาะสม ในช่วงเวลาราคาตกต่ำกว่าเป้าหมาย ปริมาณผลผลิตเข้าตลาดมาก
แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดหลายชนิด ได้ปรับราคาลดลงมามาก เช่น ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียวที่ราคาตลาดต่ำกว่าราคาประกันรายได้ 700-2,500 บาทต่อตัน แล้ว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ มาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเพิ่มเติม เช่น โครงการเพิ่มสภาพคล่องผู้ค้าข้าว โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โครงการผลักดันการส่งออกรัฐต่อรัฐ โครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉางเกษตรกรเป้า 1.5 แสนตัน โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 18,550 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างความเข้าใจมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
แหล่งข่าวระบุว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เสนอแผนการผลักดันข้าวในช่วงต้นฤดูกาลให้กขช.รับทราบ ได้แก่ การเจรจาขายข้าวแบบจีทูจีปริมาณ 9.5 แสนตัน ผลักดันการส่งออกข้าวภาคเอกชนปริมาณ 3 ล้านตัน ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปีหน้าไว้ที่ปริมาณ 9-9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,500-4,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ตามที่ กขช.อนุมัติงบ 2 หมื่นล้านบาท รับซื้อข้าวจากชาวนา จะทำให้ราคาตลาดหยุดทรุดตัวลงทันที แต่ต้องมีความชัดเจนเรื่องจัดการข้าวในสต็อก โดยหากจะระบายข้าว ต้องไม่ให้ราคาต่ำกว่าตันละ 1.7 หมื่นบาท
ส่วนการตั้งโต๊ะซื้อข้าว ควรใช้กติกาเดิมของโครงการรับจำนำที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การดำเนินการสามารถทำได้ทันที โดยโรงสีพร้อมให้ความร่วมมือและเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสถานที่เก็บ ราคารับซื้อที่เหมาะสมควรเฉลี่ยที่ตันละ 9.5 พันบาท (ข้าวเปลือกเจ้า) เพื่อให้ชาวนาได้รับเงินชดเชย จากส่วนของโครงการประกันรายได้อีกเพียง 500 บาท รวมเป็น 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาประกัน ขณะที่ราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 8,000-8,500 บาท อย่างไรก็ตาม หากรัฐตั้งโต๊ะซื้อในราคาอ้างอิงเชื่อว่าจะไม่ได้ผลและเป็นการละลายเงินโดยไม่มีประโยชน์ และอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาข้าวปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศพยายามกดราคารับซื้อ โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยจะชดเชยส่วนต่างราคาอยู่แล้ว โดยราคาข้าวช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ก.ย.) กระสอบละ 1,670 บาท ขณะที่ (ต.ค.) ตันละ 1,470 บาท
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |