นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมอนุกรรมการมีมติให้ระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐ ปริมาณ 4.346 ล้านตัน แบ่งเป็นระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ AFET ปริมาณ 763,920 ตัน ที่เหลือ 3.8 ล้านตัน ให้ระบายด้วยการส่งออก เพื่อป้องกันข้าวกลับเข้ามาในประเทศและส่งผลให้ราคาตลาดในประเทศตกต่ำ
นายประพล มิลินทจินดา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะทำงานขายข้าว มีผู้แทนองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นประธาน มีผู้แทนกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นคณะทำงาน มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขการเสนอราคา (ทีโออาร์) ซึ่งเบื้องต้น จะต้องเป็นผู้ส่งออกที่มีใบบี/แอลมายืนยัน กำหนดให้เสนอราคาเป็นเงินบาท ตามราคาหน้าคลัง ไม่มีการหักค่าขนส่งหรือค่าเสื่อมราคา และกำหนดวางเงินค้ำประกัน (แบงก์การันตี) 5%
ฉีกแนวตั้งผู้แทน อคส.ประธานขาย
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้แทนจาก อคส.เป็นประธาน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การระบายสต็อกข้าว โดยปกติจะแต่งตั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรืออธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพราะทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าวเชี่ยวชาญในด้านการตลาด และการเจรจากับคู่ค้า รวมทั้งทราบกลยุทธ์การฮั้วของผู้ส่งออกที่เข้ามาประมูล และ อคส.ยังอยู่ใต้การบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงพาณิชย์ด้วย
บุคลากรระดับสูงของ อคส.ส่วนใหญ่ จะมาจากการแต่งตั้งเข้าไปของฝ่ายการเมือง ทั้งคณะกรรมการบอร์ด หรือตัวผู้อำนวยการที่ต้องผ่านการสรรหา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายการเมือง จึงจะเข้ามารับตำแหน่งได้ การให้ผู้แทนจาก อคส.เป็นประธาน เท่ากับฝ่ายการเมืองแต่งตั้งคนของตัวเอง เข้าไปกำหนดเงื่อนไขในการขายและเจรจาต่อรองผลประโยชน์ได้
นายประพล กล่าวต่อว่า แนวทางพิจารณาราคาขาย จะต้องเป็นราคาที่เหมาะสม อ้างอิงตามราคาส่งออกท่าเรือกรุงเทพ (เอฟโอบี) ในเวลานั้นๆ จากราคาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ราคาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และราคาข้าวตลาดในประเทศ
"วิธีการระบายเช่นนี้ จะไม่ทำให้ราคาตลาดตกต่ำ เพราะเราไม่ได้บอกว่าจะระบายกี่ตัน ไม่เหมือนประมูลทั่วไปที่ต้องกำหนดปริมาณชัดเจนและเปิดซองแล้ว เสนอเท่าใด ก็ต้องขาย เพราะจะดูราคาที่เสนอ มาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสม ก็ไม่ขาย ตลาดไม่รู้ว่าจริงๆ เราจะขายเท่าใด คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ ทีโออาร์น่าจะเสร็จและออกประกาศให้ผู้ส่งออกมาเสนอราคา ซึ่งคณะทำงานจะพิจารณาและต่อรอง เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอให้คณะอนุกรรมการที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณาก่อนเคาะขายต่อไป" นายประพล กล่าว
ขีดเส้นระบายข้าวให้เสร็จในเดือนก.ค.
ส่วนกำหนดเวลาการระบาย จะให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน รวมการยื่นราคาต่อรอง พิจารณาขายและการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นกับปริมาณที่ผู้ซื้อแต่ละราย เนื่องจากหากผู้ซื้อชนะประมูลในปริมาณมาก อาจต้องพิจารณาเวลาขนย้ายที่เหมาะสม เพราะการระบายข้าวครั้งนี้ พิจารณาจากราคาเสนอซื้อที่สูงสุด แม้จะเป็นการเสนอซื้อของผู้ส่งออกรายใดรายหนึ่งก็ตาม
นายประพล กล่าวอีกว่า สาเหตุที่กำหนดให้ระบายข้าวในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. เพราะก่อนหน้านี้ไทยไม่ได้ส่งออกข้าวมานาน อาจส่งผลต่อปริมาณการส่งออกรวม และเป็นช่วงที่ไทยสามารถขายข้าวได้ ก่อนที่อินเดียจะกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้หลังการเลือกตั้งทั่วไป ขณะที่เวียดนามกำลังชะลอการส่งออกและคาดว่าจะกลับมาส่งออกอีกครั้งหลังพ.ค.
เคลียร์สต็อกรองรับข้าวนาปรัง
นอกจากนี้ รัฐต้องการระบายข้าวในสต็อกออก เพื่อรองรับข้าวที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 2552 อีก 2.5 ล้านตันและรัฐต้องลดค่าใช้จ่ายการเก็บรักษาข้าว ซึ่งประกอบด้วยการเสื่อมสภาพแต่ละวันและค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาเฉลี่ย 137 ล้านบาทต่อเดือน
นายประพล กล่าวว่า วันนี้ (21 เม.ย.) กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเอ็มโอเอ การซื้อขายข้าวกับประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นกรอบให้ไทยสามารถเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดประมูลแต่เป็นการให้ความเห็นชอบในเอ็มโอเอไว้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ ครม.รับทราบและเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาเพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ
ชง ครม.ขายข้าวฟิลิปปินส์ 1 ล้านตัน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 เม.ย.) กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอให้ ครม.อนุมัติการลงนามร่างบันทึกความตกลงว่า ด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เริ่มปี 2552 เป็นต้นไป
ส่วนราคาที่ซื้อขายข้าวนั้นให้ใช้ราคาซื้อขายระหว่างประเทศที่ซื้อขายจริงขณะนั้น ส่วนการลงนามนั้นให้ ครม.มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามฝ่ายไทย และให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็มให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนาม
ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ได้ทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ให้รัฐบาลไทยเร่งลงนามร่างบันทึกความตกลงฉบับนี้ ซึ่งเป็นร่างบันทึกความตกลงที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่เดือนพ.ค.2551 ทั้งนี้ การลงนามบันทึกความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่บันทึกความตกลงมีผลบังคับใช้ และให้ต่อสัญญาได้แบบปีต่อปี
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าวในปี 2552 เป็นปริมาณ 1.5 ล้านตัน ซึ่งหากมีการระบายข้าวออกไปจะช่วยลดสต็อกข้าวของรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลต่อ ครม.ว่า การลงนามบันทึกความตกลงฉบับนี้เป็นการลงนามในกรอบกว้างๆ จึงไม่จำเป็นต้องเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่อย่างใด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |