นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังด่านการค้าที่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ตาก และสระแก้ว เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลการนำเข้าและเตรียมการซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการในการดูแลการนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดเสรีข้าว ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่ไทยจะลดภาษีลงเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค.2553
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การพิจารณามาตรการในการดูแลการนำเข้าข้าวภายใต้อาฟตานั้น มีประเด็นหลักๆ ในการดูแล ที่ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้าข้าว กำหนดคุณภาพมาตรฐานของข้าวที่นำเข้า ทั้งในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า การปลอดศัตรูพืชและโรคพืช การปลอดสารตกค้างและสารปนเปื้อนต่างๆ รวมถึงการปลอด GMOs การกำหนดด่านที่ให้นำเข้า และการติดตามการใช้ข้าวนำเข้า รวมไปถึงการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะนำมาใช้
ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป จะมีการนำเสนอแนวทางการกำหนดมาตรการรองรับการเปิดตลาดข้าวภายใต้อาฟตา ให้คณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและออกประกาศ เพื่อแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบแนวทางปฏิบัติ ก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีได้เข้าพบนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอการเปิดเสรีนำเข้าข้าวและข้าวเปลือกในกรอบอาฟตาโดยเสรี โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ค้าที่มีใบอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติม จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำมาตรการดูแลตลาดข้าวในประเทศ กำหนดให้เสรีนำเข้าข้าวได้เฉพาะปลายข้าว ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และมีการกำหนดโควตาปริมาณนำเข้าที่ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากปล่อยเสรีการนำเข้าข้าว หรือข้าวเปลือก และหากไม่ควบคุมอย่างดีเพียงพอจะเป็นการทำลายระบบค้าข้าวในไทย จากปัญหาข้าวผสมคุณภาพต่ำ ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ และไทยเสียส่วนแบ่งตลาดค้าข้าว ดังนั้นสมาคมเตรียมจะขอเข้าพบนายกอร์ปศักดิ์ เพื่อชี้แจงและเสนอความคิดเห็นต่อการดูแลระบบค้าข้าวในกรอบอาฟตาเร็วๆ นี้
ส่วนสถานการณ์การส่งออกข้าวยังอยู่ในภาวะทรงตัว คาดว่าเดือนก.ย.นี้จะยังส่งออกได้ปริมาณ 6 แสนตัน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นการส่งออกข้าวนึ่ง ทดแทนตลาดข้าวนึ่งที่อินเดียผู้ส่งออกรายใหญ่ ยังชะลอการส่งออก แต่การส่งออกขณะนี้ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับปัญหาเงินบาทแข็ง จึงต้องการให้รัฐเร่งดูแลเพราะสถานการณ์เงินบาทแข็ง สินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ จะได้รับผลกระทบสูงสุด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |