นายประมุข เจิดพงศาธร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) ประจำสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้เกิดการปลอมปนข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวเกรดพรีเมียมของไทยระบาดหนักในสหรัฐฯ ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับผู้ค้าปลีก ซึ่งเป็นกลุ่มโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ทั่วสหรัฐฯ เนื่องจากเกรงจะเสียชื่อเสียงและส่งผลกระทบต่อยอดขาย
ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯซึ่งรู้จักและคุ้นเคยกับการบริโภคข้าวหอมมะลิเป็นอย่างดี ได้ร้องเรียนว่า ระยะหลังๆนี้ ข้าวหอมมะลิไทยที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ มีรสชาติที่ไม่คุ้นลิ้น ทำให้เลิกซื้อสินค้าเพราะมองว่ามีการปลอมปน ซื้อแล้วไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป
"ปัญหาที่เกิดขึ้นมองว่าเกิดจากสองส่วนคือซัพพลายเออร์ หรือผู้จัดหาข้าว รวมถึงห้างที่ซื้อตรงและมีโรงบรรจุแพ็กเกจจิ้งของตนเองได้สั่งซื้อข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยไปผสมกับข้าวชนิดอื่น เช่นข้าวหอมปทุมธานี หรือข้าวชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัน เพื่อขายเอากำไร เพราะข้าวหอมมะลิขายได้ราคาสูง ซึ่งในห้างที่ไม่รู้ หรือไม่ได้ทำก็เกรงจะเสียชื่อเสียง และเสียลูกค้า"
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหานายประมุขกล่าวว่าในการเดินทางเยือนสหรัฐฯเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้กระทรวงส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจสินค้าที่ขายในห้างของสหรัฐฯเพื่อนำตัวอย่างสินค้าทำการตรวจสอบตรวจดีเอ็นเอ(ลักษณะทางพันธุกรรม)ว่าได้มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย 92% ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดหรือไม่ หากไม่ได้มาตรฐานให้ทำสำเนาผลการตรวจแจ้งต่อทางห้าง เพื่อให้นำสินค้าออกจากชั้นวาง และตรวจสอบที่มาที่ไปเพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐฯ มีมานานแล้ว แต่ปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมาในแต่ละปีสหรัฐฯมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยประมาณ 3-4 แสนตัน ส่วนหนึ่งมีการนำไปผสมข้าวอื่นส่งขายฟันกำไร ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยเสียชื่อเสียง ซึ่งยอมรับว่าป้องกันยากเนื่องจากเกิดที่ปลายทาง
ขณะที่ต้นทางส่วนหนึ่งเป็นผลจากพ่อค้าข้าวของไทยมีส่วนรู้เห็นด้วยโดยทำตามความต้องการของลูกค้า เช่น สั่งซื้อข้าวโดยผสมข้าวหอมมะลิสัดส่วนเพียง 50-60% ที่เหลือเป็นข้าวอื่น โดยแจ้งส่งออกว่าเป็นข้าวขาว เมื่อสินค้าถึงปลายทางก็จะนำไปผสมกับข้าวชนิดอื่นแล้วแพ็กถุงขายในแบรนด์ของลูกค้า บางครั้งยังใช้ถุงที่มีตราโลโกรับรองจากกรมการค้าต่างประเทศของไทยว่าเป็น Thai Hom Mali Rice เพื่อบรรจุจำหน่ายสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้จากประเทศไทย
นอกจากในสหรัฐฯแล้ว ปัจจุบันในตลาดจีนก็ยังมีปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยในระดับที่รุนแรงไม่แพ้กัน สืบเนื่องจากชาวจีนที่มีรายได้ดีนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย ทำให้ในแต่ละปีจีนมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยประมาณ 5-6 แสนตัน ส่วนหนึ่งมีการนำเข้าข้าวหอมปทุมธานีหรือข้าวขาวชนิดอื่นๆไปผสม ซึ่งในการตรวจสอบ และฟ้องร้องเอาผิดต้องใช้เวลา และมีความยุ่งยากมาก ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดทางกระทรวงพาณิชย์ควรโหมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องข้าวหอมมะลิไทยในหมู่ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ
เรื่องนี้นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิในจีน ทาง สคต.ที่ประจำการในจีนได้ขอความร่วมมือจาก SAIC ซึ่งเป็นองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคคล้ายกับ สคบ.ของไทยช่วยตรวจสอบเพื่อเอาผิดแล้วซึ่งสามารถช่วยปรามได้ระดับหนึ่ง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |