www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

อินเดียชะลอซื้อข้าว 2 ล้านตัน นายกฯเชื่อราคาสูงต่อเนื่อง


หนังสือพิมพ์อิโคโนมิค ไทมส์ รายงานวานนี้ (20 พ.ย.) ว่า รัฐบาลอินเดียอาจตัดสินใจยังไม่นำเข้าข้าวตอนนี้ เพราะวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของราคาในตลาดโลก โดยเมื่อเดือนที่แล้วบริษัท 3 แห่งของรัฐบาล ได้แก่ เอสทีซีไอ เอ็มเอ็มทีซี และพีอีซี เปิดประมูลนำเข้าข้าวรวม 30,000 ตัน โดยได้รับข้อเสนอ 18 ราย ในราคาตั้งแต่ 373-599 ดอลลาร์ต่อตัน

อิโคโนมิค ไทมส์ รายงานอ้างเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 บริษัทเปิดประมูล เพื่อดูว่าราคาอ้างอิงจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร ดูเหมือนว่าจะสูงถึงตันละ 450 ดอลลาร์

นายสัญชีพ บาทรา ประธานบริษัทเอ็มเอ็มทีซี กล่าวก่อนหน้านี้ว่าบริษัทอาจไม่นำเข้าข้าว เป็นผลจากราคาเสนอขายที่ระดับสูง
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรญี่ปุ่นได้ซื้อข้าว 61,000 ตัน เพื่อนำไปใช้ในอาหารแปรรูปและแอลกอฮอล์ การซื้อข้าวครั้งนี้ผ่านการประมูลอย่างที่วางแผนไว้ ซึ่งจะจัดส่งช่วงวันที่ 20 ธ.ค. 2552-15 เม.ย. 2553 ในจำนวนข้าวที่ซื้อ 39,000 ตัน เป็นการซื้อจากสหรัฐ และ 22,000 ตันจากไทย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นปลูกข้าวได้มากกว่าที่บริโภค แต่ต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศปีละ 770,000 ตัน หรือ 9% ของการบริโภคในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ

นายกฯ รับขายข้าวอินเดียไม่คืบ

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า หลังนางสาว Vijaya Latha Reddy เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาตำแหน่ง วานนี้ (20 พ.ย.) ไม่ได้มีการหารือกรณีที่อินเดียจะสั่งซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จากไทย

ส่วนการที่อินเดียจะสั่งซื้อข้าว 2 ล้านตันจากไทยและเวียดนาม ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นทันที ส่วนการขายข้าวของไทยให้อินเดีย ตนเห็นว่าต้องพิจารณาช่วงจังหวะเวลาการซื้อขายที่เหมาะสม และปริมาณที่จะขายแต่ละครั้ง แม้ว่าอินเดียต้องการสั่งซื้อข้าวจากไทยและเวียดนามก็ตาม แต่ข้าวจากข้าวเวียดนามมีราคาถูก คุณภาพต่ำกว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เข้าใจว่าการสั่งซื้อข้าวของอินเดียครั้งนี้ ต้องการซื้อข้าวหลายเกรด ส่วนเวียดนามน่าจะเหลือข้าวในมือไม่มาก เทียบกับไทยที่มีข้าวในสต็อกเกือบ 5 ล้านตัน การระบายข้าวครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้ราคาข้าวตกลง หากระบายถูกจังหวะเวลา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึง การเจรจาขายข้าวให้อินเดีย ว่า ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า ตนได้ให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ไปช่วยดูแลเรื่องนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รายงานว่าสถานการณ์ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่การขายข้าวแบบจีทูจี ไทยพร้อมขายให้ทุกประเทศที่มีความต้องการ

ไทยรับอานิสงส์คู่แข่งส่งออกลดปี 2553

แหล่งข่าวจาก กขช. กล่าวว่า ในที่ประชุม กขช. ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก พบว่าปี 2553 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 17.65% เทียบกับปี 2552 เวียดนามส่งออก 5.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 5.17% ปากีสถานส่งออกข้าว 3.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% สหรัฐส่งออกข้าว 3.05 ล้านตันลดลง 1.61% ส่วนอินเดียส่งออกข้าว 1.5 ล้านตันลดลง 25% ขณะนี้ อินเดียประสบภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง มีการสั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่วนสถานการณ์สต็อกข้าวโลก และผลผลิตข้าวที่ลดลง จะทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น

"ช่วงเดือน พ.ย.นี้ ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2552/2553 จะทยอยออกสู่ตลาดแต่มีความชื้นสูง ขณะที่ตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการซื้อต่อเนื่อง เนื่องจากอินเดียยังคงห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่วนเวียดนามได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวเต็มแล้ว 6 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการส่งออกปี 2552 กรมการค้าต่างประเทศปรับเป้าหมายส่งออกข้าวเป็น 8.5 ล้านตัน" แหล่งข่าวระบุ

ผู้ส่งออกเชื่อปีหน้าไทยส่งออกทะลุ10ล้านตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวปี 2553 คาดน่าจะส่งออกได้ 9.5-10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออก 8.7-8.8 ล้านตัน โดย 11 เดือนปีนี้ ส่งออกแล้ว 7.5 ล้านตัน ลดลง 18.40% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยปีหน้า การส่งออกข้าวจะใกล้เคียงกับปี 2551 ที่เคยทำสถิติส่งออกถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากอินเดียอาจต้องนำเข้าข้าวไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านตัน หลังจากประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้กับผลผลิตข้าวอินเดียลดลง 16-17% เหลือเพียง 80 ล้านตัน จากปีนี้ ผลผลิตอยู่ที่ 99 ล้านตัน จนรัฐบาลอินเดียต้องประกาศลดภาษีนำเข้าข้าวจาก 70% เหลือ 0% จนถึงเดือน ก.ย. 2553 เพื่อให้มีการนำเข้าข้าว และลดแรงกดดันทางการเมือง เพราะราคาข้าวในอินเดียสูงขึ้น 25% จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน

"ไทยน่าจะมีโอกาสชนะประมูลซื้อข้าวจากอินเดีย เพราะต้นเดือน ธ.ค.รัฐบาลฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวอีก 2 ล็อต ครั้งละ 6 แสนตัน น่าจะซื้อจากเวียดนามทั้งหมด จึงเป็นโอกาสไทยที่จะขายข้าวให้อินเดีย ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ข้าวขาวน่าจะอยู่ที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์" นายชูเกียรติกล่าว

ส่วนกรณีที่อินเดียอาจยกเลิกการนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน หากเป็นจริงจะส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดไม่ให้ปรับสูงแบบก้าวกระโดด ไปที่ตันละ 600-700 ดอลลาร์ แต่ราคาข้าวยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป แม้อินเดียจะไม่นำเข้าข้าว
ชะลอรับคำสั่งหวั่นผู้ซื้อเลิกสัญญา

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทกมลกิจ กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวขณะนี้ ผู้ส่งออกได้ชะลอรับคำสั่งซื้อ เพราะเกรงว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นเหมือนปี 2551 จนเป็นเหตุให้ผู้ซื้อขอยกเลิกสัญญา โดยเฉพาะข้าวที่มีความผันผวนสูง อาทิเช่น ข้าวนึ่งและปลายข้าว ที่ผ่านมา มีปัญหาข้าวเปลือกขาดตลาด ผู้ส่งออกแต่ละรายได้ปรับตัวรับคำสั่งซื้อต่างกัน บางรายอาจซื้อสต็อกข้าวเก็บไว้ถึง 80% เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรับคำสั่งซื้อ

นายวิเชียร ธีรธนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมโรงสีอีสานเหนือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวเหนียวหายไปกว่า 30% ซึ่งโรงสีบางแห่งเริ่มซื้อข้าวเหนียวเก็บสต็อกไว้ ทำให้ราคาข้าวเหนียวสูงถึงตันละ 1.05 หมื่นบาท สูงกว่าราคาประกันที่ตันละ 9,500 บาท และมีโอกาสที่จะสูงเท่ากับปี 2551 ที่ราคาข้าวเหนียวสูงถึงตันละ 1.6-1.7 หมื่นบาท

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.