ตามที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอข่าวองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)ปล่อยข้าวให้กับพ่อค้าที่ชนะประมูลซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาล 2.6 ล้านตัน โดยยึดสัญญาซื้อขายเป็นเกณฑ์ เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไม่ชัดเจน กระทั่งในที่สุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวจำนวนดังกล่าวนั้น
แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว เปิดเผย กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งล้มประมูลขายข้าว 2.6 ล้านตัน โดยสั่งการให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ทำหนังสือถึงองค์การคลังสินค้า (อคส.)และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวอันเนื่องจากอนุมัติให้ระบายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พร้อมกับระงับเอกชนที่ชำระเงินค่าข้าวบางส่วน(ประมาณ 240,000ตัน) จาก 2.6 ล้านตันขนย้ายข้าวออกจากคลังกลางเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนั้น ได้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในวงการโรงสีข้าว
โดยผู้ประกอบการโรงสีข้าวต่างวิ่งพล่านกว้านซื้อข้าวกันอุตลุด เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้นำข้าวเปลือกจากโครงการรับจำนำไปสีขายท้องตลาดในราคาสูง หวังรอซื้อข้าวที่รัฐบาลเปิดประมูลขายให้ผู้ส่งออกราคาต่ำส่งมอบเข้าโกดังกลาง เมื่อรัฐบาลระงับปล่อยข้าวประกอบกับกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสต๊อกข้าว ทำให้โรงสีต้องวิ่งซื้อข้าวเข้าเพื่อรับการตรวจสต๊อก
"คำสั่งดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการโรงสีที่นำข้าวโครงการจำนำไปขายเดือดร้อน เพราะต้องวิ่งซื้อข้าวเข้ามาเติมเต็มสต๊อก เสมือนเป็นการลงโทษคนที่ไม่สุจริต แต่ก็เป็นผลดีกับชาวนา ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในท้องตลาดสูงขึ้นใกล้เคียงกับราคารับจำนำโดยข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 24-25% โรงสีรับซื้อราคาจ่ายเงินสดที่ตันละ 10,300-10,400 บาท ขณะที่ราคาจำนำอยู่ที่ตันละ 10,500 บาท ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ยอมขายมากกว่าจำนำเพราะราคาไม่แตกต่างกัน"
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่าในส่วนของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าวนึ่งซึ่งได้รับออร์เดอร์ล่วงหน้ากันไว้ที่ตันละ 540-580 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ราคาข้าวเปลือกปัจจุบันราคาข้าวนึ่งต้องอยู่ที่ตันละ 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่ยังต้องส่งราคาเดิมมีปริมาณประมาณ 300,000-400,000 ตัน จำนวนนี้ต้องขาดทุนไปตามๆ กัน ส่วนการส่งออกข้าวขาวไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากเพราะมีออร์เดอร์เข้ามาน้อย
"เรื่องนโยบายการระบายข้าวของรัฐบาลไทย ในการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวของประเทศเวียดนาม เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่จังหวัดภูเก็ตทางเวียดนามได้สอบถามเรื่องนี้ เพราะเวียดนามเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไทยปล่อยข้าวออกมาจำนวนมากราคาข้าวไทยจะต่ำกว่าข้าวเวียดนาม เพราะเวียดนามมีนโยบายจะส่งออกข้าวปีนี้ถึง 6 ล้านตัน จากเดิมตั้งเป้าไว้ 5 ล้านตัน อย่างไรก็ดีเวลานี้ราคาข้าวเวียดนามยังต่ำกว่าข้าวไทยตันละเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ"
นายมนูญ์รัตน์ เลิศโกมลสุข ผู้อำนวยการอ.ต.ก.กล่าวว่าเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เชิญผู้ส่งออกที่ชนะประมูลมาประชุมเพื่อแจ้งให้ทราบกรณีนายกรัฐมนตรีสั่งให้ยกเลิกสัญญาซื้อขายข้าวและระงับปล่อยข้าว ซึ่งอ.ต.ก.ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้นเพราะเป็นคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีความชัดเจนจึงได้ปล่อยไปตามระเบียบสัญญากับคู่ค้าข้อ12ที่ระบุเมื่อผู้ค้าวางเงินชำระค่าข้าวแล้วกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ซื้อ แม้ขณะนี้จะถูกสอบสวนทางวินัยจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้นสังกัดแต่ยังยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติตามสัญญา
ผู้อำนวยการอ.ต.ก. กล่าวอีกว่าการหารือในวันดังกล่าวผู้ส่งออกข้าวได้เสนอ 3 ข้อคือ1.กรณีผู้ส่งออกชำระเงินแล้วให้สามารถนำข้าวออกได้ 2.กรณีมีออร์เดอร์จากต่างประเทศ สามารถนำสัญญาที่มีกับคู่ค้าต่างประเทศมาแสดงให้สามารถนำข้าวออกได้ 3.กรณีไม่อยู่ภายในข้อ1และ2 ยินดียกเลิกสัญญาแบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งได้รับไว้พิจารณาเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
"ฐานเศรษฐกิจ"ได้สอบถามผู้ส่งออกข้าวหลายรายให้ข้อมูลตรงกันว่าได้รับหนังสือจาก อคส.ให้ไปทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ผู้ส่งออกเริ่มไปเซ็นสัญญากันวันที่ 13 พฤษภาคม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวโดย คาดว่าจะมีการพบกับผู้ส่งออกข้าววันที่ 23 มิถุนายน 2552 ขณะนี้อยู่ระหว่างให้กระทรวงพาณิชย์ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดโดยทำรายงานให้ทราบ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการโยนกันไปมาระหว่างตนเองกับรมว.พาณิชย์ เพราะในฐานะประธานกขช. และประธานประชุมครม.ได้กำหนดหลักเกณฑ์กรอบไปแล้ว ปัญหามีอยู่ว่าปัญหาของผู้ปฏิบัติตรงกับกรอบเกณฑ์และมติครม.หรือไม่ เข้าใจตรงกันหรือไม่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องสรุปเรื่องมาให้ทราบ สำหรับความเป็นธรรมกับภาคเอกชนถ้าเข้ามาในสัญญาโดยบริสุทธิ์และสุจริตเอกชนก็ต้องได้รับความเป็นธรรม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |