www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

พรทิวาระบายสต็อก 6 แสนตัน-ข้าวถุงจ่อขึ้น 20 บ.


นายวัลลภ มานะธัญญา กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่าย “ข้าวาวหงษ์ทอง” เปิดเผยว่า นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดอย่างมาก ทำให้ข้าวสารไม่พอกับความต้องการตลาด เพราะสต็อกข้าวจำนวนมากอยู่ในคลังของรัฐบาลถึง 7 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกข้าวหอมมะลิ สำหรับถุงขนาด 5 กก. ตั้งแต่เดือนมิ.ย.จนถึงขณะนี้ ปรับขึ้นราคาแล้ว 10 บาท โดยเป็นการขายชนราคาหน้าถุง 190-200 บาท จากเดิมที่ห้างจะขายแบบโปรโมชั่น ในราคาขายเฉลี่ยที่ 170 บาท/ถุงขนาด 5 กก.

“มีแนวโน้มว่าราคาขายข้าวถุงจะปรับขึ้นอีก ในเดือน ส.ค.นี้ โดยอาจปรับขึ้นราคาอีก 10-20 บาท รวมถึงข้าวหงษ์ทอง ก็มีแผนจะปรับราคาขึ้นด้วย เพราะรับภาระต้นทุนไม่ไหว”

นายวัลลภ ยังกล่าวอีกว่า โครงการการรับจำนำข้าวสร้างความเสียเปรียบในเรื่องโครงสร้างราคา ทำให้ศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยกับเวียดนามต่างกันมาก ปัจจุบันราคาข้าวขาวไทยส่งออกอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกอยู่ที่กว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

“รัฐบาลเปิดโครงการจำนำข้าว เพราะต้องการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ผมมองว่ารัฐบาลควรช่วยเกษตรกรในเรื่องการเพิ่มผลผลิตมากกว่า และคิดว่าการใช้นโยบายรับประกันราคาน่าจะดีกว่า” นายวัลลภ กล่าว

ข้าวมาบุญครองชี้ต้นทุนพุ่ง 5-15%

ด้านนายรุจน์ ทรัพย์นิรันดร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปทุมไรซ์มิลล์ แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวมาบุญครอง กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เอกชนต้องการส่งสัญญาณให้รัฐรู้ว่า ตลาดข้าวถุงขณะนี้มีแรงบีบจากต้นทุนข้าวสารที่เพิ่มขึ้น 5-15% โดยสถานการณ์ราคาข้าวปรับขึ้นเริ่มเห็นชัดมาตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อน (ต้นเดือน ก.ค.)

แต่ในด้านราคายังมีปัญหา เนื่องจากการขายปลีกข้าวถุงมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับห้างค้าปลีก ในเรื่องการจัดกิจกรรมโปรโมชั่น ณ จุดขาย ซึ่งมักจะเป็นเรื่องการลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดทำให้บริษัทยังคงยื้อขายในราคาเดิม แต่หากต้นทุนข้าวยังคงเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นอีกแน่นอน

“ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นมาแล้ว 5-15% ตามประเภทของข้าว ผลกระทบมีแน่ คือต้องยอมตัดมาร์จินลง ซ้ำยังถูกห้างค้าปลีกกำหนดราคาตามโปรโมชั่นอีก เราคาดว่าคงรับภาระจากสต็อกข้าวเดิมได้ถึงแค่กลางเดือน ส.ค.นี้เท่านั้น หากสถาน-การณ์ยังไม่ดีขึ้นก็คงต้องปรับราคาขายปลีกขึ้นมาแน่นอน” นายรุจน์ กล่าว

ซีอีโอข้าวมาบุญครอง กล่าวต่อด้วยว่า ปัญหาของราคาข้าว สืบเนื่องมาจากนโยบายการสต็อกข้าวของรัฐบาล ที่รวมข้าวไปไว้ในโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมาก ทำให้ข้าวสารในตลาดลดลง แม้จะยังไม่ถึงกับขาดตลาด แต่ก็ทำให้ตลาดตึงตัว เป็นเหตุให้มีการปรับราคาข้าวสารขึ้น

จี้รัฐเร่งระบายสต็อกด่วนสกัดราคาพุ่ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ยังพอมีเวลาให้ปรับตัว หากรัฐบาลหันมาเร่งระบายสต็อกข้าวที่ถือไว้ออกมาโดยเร็ว ก็จะช่วยลดปัญหาลงได้ และช่วยชะลอการขึ้นราคาข้าวในตลาดได้ แต่หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ราคาข้าวจะปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ เอกชนที่ขายปลีกก็จำเป็นต้องขึ้นราคา ซึ่งเรื่องนี้เอกชนสามารถทำได้ทันที เพียงแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขึ้นราคา

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าวมาบุญครอง ราคาที่ขายอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ได้ปรับราคาหน้าถุงขึ้น ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ ที่เฉลี่ย 200 บาท แต่ราคาขายจริงในแต่ละห้างอาจปรับขึ้นไปบ้างแล้ว ตามนโยบายที่แตกต่างกัน

“สถานการณ์ขณะนี้ เอกชนต้องการเพียงแค่ส่งสัญญาณให้รัฐบาลรับทราบปัญหา เพื่อจะได้รีบแก้ไข หยุดยั้งการขึ้นราคาข้าวสารลงก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน” นายรุจน์ กล่าวและว่า ปัญหาราคาข้าวสารปรับตัวสูงขึ้นนี้ เอกชนได้เคยหารือกับกรมการค้าภายในไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำหนังสือร้องเรียนใดๆ เพียงแต่ให้ข้อมูลให้ทางการได้รับทราบ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา

ปัญหาขณะนี้คือ เอกชนทุกคนรับรู้ว่า ราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ต้นปี และเพิ่งมาแรงขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งสมาคมข้าวถุงก็กังวลเรื่องนี้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คงต้องปรับราคาขายปลีก แต่ยังไม่ได้ตกลงกันเป็นทางการในนามสมาคม เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะรีบแก้ปัญหานี้โดยเร็ว ด้วยการเร่งระบายสต็อกออกมา เพื่อลดภาวะตึงตัวของตลาดข้าวสารลงได้ ซึ่งก็เริ่มเห็นสัญญาณบ้าง แต่ยังไม่ชัดเจนนัก

พาณิชย์เล็งระบายสต็อกข้าวเปลือก 6 แสนตัน

ขณะเดียวกัน นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้ากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่สิงคโปร์ ว่า รัฐบาลจะปล่อยข้าวเปลือกออกจากสต็อกให้ผู้ส่งออกรวม 6 แสนตัน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในตลาดข้าวสารได้

ในแต่ละปีรัฐบาลจะซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาข้าวครั้งล่าสุดนั้น รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกของชาวนาที่ตันละ 347 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาข้าวสารเพื่อส่งออกอยู่ที่ตันละ 550-580 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ส่งออกระบุว่า นโยบายดังกล่าวทำให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับข้าวเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าตันละ 100-150 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.