www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

แล้ง-หนาว ฉุดข้าววูบ 10% ผู้ส่งออกติงนโยบายจำนำบิดเบือนตลาด


อากาศหนาวในช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2552 ส่งผลกระทบกับผลผลิตข้าวในปี 2552 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้นำคณะผู้ส่งออกข้าวเดินทางสำรวจผลผลิตข้าว เพื่อพยากรณ์การผลิตข้าวนาปรังปี 2552 ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ ในพื้นที่ภาคกลาง-ภาคเหนือ 19 จังหวัด หารือร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและโรงสีในเขตพื้นที่พบว่าผลผลิตข้าวนาปรังปี 2552 จะลดลง 5-10% เหลือราว 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก จากข้าวนาปรังปี 2551 ซึ่งมีปริมาณ 8.791 ล้านตัน

ในบางพื้นที่คาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงถึง 50% โดยมีสาเหตุจากสภาวะอากาศ จากภาวะน้ำท่วมจนเกสรข้าวโดนฝน เกิดภัยหนาวขณะเก็บเกี่ยวยาวนานจนผลผลิตข้าวลดลง และขณะนี้บางจังหวัดเป็นที่ภัยแล้ง เช่น จ.อ่างทอง ขณะที่เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกข้าว หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และยูคาลิปตัส เป็นต้น

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตขาดสินค้า โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิหายไปจากตลาด 20% เทียบกับปีก่อน โดยปริมาณข้าวหอมมะลิเข้าโครงการจำนำลดลงเพียง 1.2 ล้านตันข้าวเปลือก หรือราว 20% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์เป็นผลจากเกษตรกรหันไปจำนำยุ้งฉางแทน 3-4 แสนตันข้าวเปลือก เพราะได้ราคาสูงกว่า 1,000 บาทต่อตัน และปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิที่ลดลงจากภัยหนาวยาวนานอีกราว 20% ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดปรับสูงขึ้น

ด้าน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ล่าสุด กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวสารโลก ปี 2552 เพิ่มขึ้น 1.80% เป็น 439 ล้านตัน ปริมาณการค้าข้าวโลกเพิ่มขึ้น 1.16% เป็น 29.57 ล้านตัน ปริมาณการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น 1.66% เป็น 435.11 ล้านตัน และสต๊อกข้าวปลายปีเพิ่มขึ้น 5.05% เป็น 82.66 ล้านตัน

ในส่วนข้อมูลของเวียดนามพบว่า ผลผลิตข้าวปีนี้ลดลง 3.59% เหลือ 23.50 ล้านตัน การบริโภคลดลง 2.39 เหลือ 19.04 ล้านตัน สต๊อกข้าวลดลง 20.31% เหลือ 1.57 ล้านตัน และการส่งออกเพิ่มขึ้น 11.83% เป็น 5.2 ล้านตัน และในช่วงครึ่งปีแรกส่งออกได้ราว 2.8 ล้านตัน ส่วนอินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.11% เป็นปริมาณ 97.5 ล้านตัน การบริโภค เพิ่มขึ้น 3.02% เป็น 93.5% สต๊อกข้าวเพิ่มขึ้น 11.54% เป็น 14.5 ล้านตัน แต่การส่งออกลดลง 22.03% เหลือ 2.3 ล้านตัน

ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศมีแนวโน้มจะนำเข้าลดลง อาทิ ฟิลิปปินส์ขยายตัว 0% นำเข้า 2.5 ล้านตัน, บังกลาเทศลดลง 37.50% เหลือ 1 ล้านตัน และแอฟริกาใต้ 0% นำเข้า 8.5 แสนตัน

"การส่งออกข้าวคาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ.น่าจะเหลือเพียง 6 แสนตัน และทั้งปีคงจะได้ 8.5 ล้านตัน เพราะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีปริมาณสต๊อกเพิ่มมากขึ้น จะกลับมาส่งออกข้าวขาว-ข้าวนึ่ง จากที่เคยส่งออกถึงปีละ 6 ล้านตัน แต่ต้องหยุดการส่งออกในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เพราะราคาข้าวอินเดียต่ำกว่าไทยเฉลี่ย 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนตลาดส่งออกไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลายแห่ง เช่น ฟิลิปปินส์ซึ่งไปทำสัญญาซื้อข้าวล่วงหน้าจากเวียดนามแล้วปริมาณ 2.4 ล้านตัน ราคา 416 เหรียญสหรัฐต่อตัน และอิหร่านที่ประสบปัญหาด้านการชำระเงินไม่ได้ ต้องหันไปนำเข้าข้าวจากปากีสถานซึ่งมีพรมแดนติดกัน อินโดนีเซียที่ประกาศห้ามนำเข้าข้าวและมีการเพิ่มผลผลิตสูงขึ้น" นายชูเกียรติกล่าว

ขณะนี้รัฐบาลควรหาทางออกในการทำตลาดข้าวเพิ่มแทนการรอคอยให้คู่แข่งขายหมดก่อน เพราะรอบการผลิตข้าวขณะนี้เร็วขึ้น หากเวียดนามขายหมดแล้วอินเดียกลับมาไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรง รวมทั้งควรพิจารณาแนวทางการระบายข้าวอย่างรอบคอบ คำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะขณะนี้ตลาดในประเทศขาดแคลนข้าว ราคาข้าวไทยก็ถูกผูกอยู่กับราคารับจำนำที่สูงจนบิดเบือนกลไกตลาด เปรียบเทียบแล้วราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 150-165 เหรียญสหรัฐต่อตัน แม้ว่าเวียดนามจะขยับราคาข้าวขึ้นอีก 20 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้รัฐบาลควรพิจารณาแนวทางการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังให้ดี ให้สอดคล้องกับราคาตลาด ชาวนาอยู่ได้และมีกำไรพอสมควร เพราะต้นทุนการผลิตปรับลดลงตามระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว หากรัฐบาลเพิ่มราคาจำนำอาจจะทำให้ข้าวไหลเข้าสู่โครงการจำนำมากขึ้นจนรัฐบาลต้องแบกภาระสต๊อกข้าวเก็บไว้จนข้าวเก่าและนำออกมาขายในราคาที่ขาดทุนมากๆ และการรับจำนำไม่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ด้าน นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลใช้นโยบายรับจำนำแบบผิดพลาด ไม่เกิน 2 ปี รัฐบาลต้องกุมสต๊อกจนท้องแตก สุดท้ายคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอินเดียหลายปีก่อน รัฐบาลต้องหยุดรับจำนำ หันมาให้แรงสนับสนุนการส่งออกโดยการจ่ายเงินให้กับผู้ส่งออกที่ทำยอดส่งออกได้ตันละ 100 เหรียญสหรัฐ

ดังนั้นควรปรับแก้การช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจัดกลุ่มเกษตรกรตามพื้นที่เพาะปลูก กลุ่มที่ต้องการสนับสนุนมากก็ให้ใช้วิธีจ่ายตรงเลย หรือสนับสนุนวัสดุทางการเกษตร ซึ่งมีวงเงินที่สามารถทำได้โดยไม่ขัดหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) และหันไปเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น เพราะพันธุ์ข้าวควรต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์สม่ำเสมอ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2008 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.