|
อคส.ฟื้น"ไซโล"ชงบอร์ดเคาะ 24 มี.ค.
|
แหล่งข่าวจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) วันที่ 24 มีนาคมนี้ มีนายวิวัฒน์ เลาหพูนรังสี เป็นประธาน จะพิจารณาแผนการพัฒนาธุรกิจบริการด้านโลจิสติคส์และไซโลจัดเก็บสินค้าเกษตรที่มีระบบปรับอุณหภูมิที่ทันสมัย แทนการฝากเก็บและเช่าโกดังทั่วไป ซึ่งรูปแบบเป็นการบริหารงานและกำหนดคุณสมบัติของไซโลโดย อคส. แต่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนลงทุนและทำสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว หากได้รับการเห็นชอบจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา รวมถึงผลดีผลเสีย ซึ่งแผนงานดังกล่าวนี้ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสามารถดำเนินการได้ภายใน 2-3 เดือน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด อคส.จะมีการเสนอจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ในต่างประเทศด้วย เพื่อรองรับแผนการขยายส่งออกสินค้าเกษตรของ อคส.ที่กำลังจัดทำขึ้น โดยประเทศเป้าหมายที่จะเปิดดีซี ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้ ทั้งนี้ อคส.ได้เดินทางไปศึกษารายละเอียดและจัดเตรียมบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าเพื่อการส่งออก คาดว่าจะได้ความคืบหน้าภายในกลางปีนี้ ซึ่งแผนงานดังกล่าวทั้งหมดได้รับความเห็นชอบจากนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การพัฒนาธุรกิจโลจิสติคส์ของ อคส.จะมีประโยชน์ในการลดต้นทุนการบริหารและลดการสูญเสียจากสินค้าที่เสียหาย เช่น การจัดเก็บข้าวเปลือกหรือข้าวสารตามโครงการรับจำนำ หากลดความเสียหายได้ 1% คิดจากจัดเก็บข้าวหอมมะลิ 1 ล้านตัน ตันละ 30,000 บาท จะลดมูลค่าความเสียหายได้ 300 ล้านบาท หากเป็นข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท ก็จะลดค่าเสียหายได้ 150 ล้านบาท รวมทั้งลดค่ากระสอบซึ่งต้องใช้ 10,000 ใบ ใบละ 45 บาท หรือ 450,000 บาท และค่าโสหุ้ยต่างๆ อีกตันละ 20-30 บาท ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลจะประหยัดงบประมาณได้เป็น 1,000 ล้านบาท แค่โลติสติคส์เรื่องข้าวเพียงอย่างเดียว
"ปีหนึ่งรับจำนำข้าวไม่น้อยกว่า 5-8 ล้านตันข้าวเปลือก และส่วนใหญ่จะไม่มีการระบายข้าวทันที จึงควรมีคลังเก็บสินค้าที่มีคุณภาพ โดย อคส.สามารถกำหนดสเปคและดูแลได้ทั้งระบบ ไม่เหมือนคลังทั่วไปต้องอยู่ในการดูแลของเจ้าของคลัง ควบคุมคุณภาพได้ยากกว่า ยังต้องระมัดระวังเรื่องการลักลอบนำเข้าออกไปหมุนเวียน และยังลดการแทรกแซงทางการเมืองที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการรับจำนำได้อีก และไม่ได้เก็บแค่สินค้าข้าว แต่จะมีสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย"
แหล่งข่าวกล่าวว่า สถานที่ตั้งก็จะใกล้บริเวณแหล่งผลผลิตสูง และไม่มีไซโล เช่น ใต้จังหวัดนครสวรรค์ ภาคกลางตอนใต้ และตามชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน เพราะต่อไปจะใช้เป็นศูนย์กลางในการรับฝากสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านจากผลผลิตตามข้อตกลงสัญญาเพาะปลูก (คอนแทคฟาร์มมิ่ง)
ที่มา มติชน |
| |
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|