ผู้ประกอบการโรงสีข้าวชี้โครงการประกันราคาข้าวชาวนามีความเสี่ยงถูกกดราคารับซื้อและรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยต่อตันสูง เหตุจากโรงสีต้องกดราคารับซื้อลงเพราะขาดสภาพคล่อง ด้าน "ประสิทธิ์ บุญเฉย" เผยหากให้โควตาประกันคนละ 30 ตันพอรับไหวแต่รัฐต้องพัฒนาคุณภาพชาวนา ช่วยลดต้นทุนผลิตต่อไร่
จากการที่ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินโครงการประกันความเสี่ยงราคาข้าว โดยเริ่มโครงการนำร่องสำหรับข้าวหอมมะลิแล้วในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ไปทำการศึกษาต้นทุนการผลิตและราคาประกันสำหรับข้าวทุกชนิดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
แหล่งข่าวในวงการผู้ประกอบการโรงสีข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าแนวทางประกันราคาข้าวตามที่รัฐบาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงให้รับทราบคือรัฐบาลจะตั้งราคาประกันไว้ ซึ่งเป็นราคาต้นทุนการผลิตบวกกำไรให้กับเกษตรกร หากเกษตรกรขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าราคาประกันรัฐบาลจะชดเชยให้ได้เท่ากับราคาประกันที่ตั้งไว้
"แนวทางดังกล่าวทางปฏิบัติจะทำได้ลำบากมาก เพราะผลผลิตข้าวจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในเวลาเดียวกัน หากปริมาณออกมาพร้อมกันจำนวนมากเป็นไปไม่ได้ที่ราคาตลาดคือราคาที่โรงสีรับซื้อจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เพราะว่าจะมีโรงสีที่ไหนมีสภาพคล่องสูงสามารถไปซื้อข้าวราคาสูงได้สินค้าออกสู่ตลาดมากโรงสีก็ต้องกดราคารับซื้อลงและโยนภาระให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนา เชื่อว่าที่สุดแล้วรัฐบาลต้องใช้งบมหาศาลที่จะต้องมาจ่ายชดเชย"แหล่งข่าวกล่าวและว่า
โรงสีไม่จำเป็นต้องฮั้วกันกดราคารับซื้อจากชาวนา แต่ซัพพลายกับดีมานด์จะเป็นตัวชี้ หากซัพพลายมีมากกว่าราคาต้องลดลงอยู่แล้ว การที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่าหากพ่อค้ากดราคารับซื้อต่ำกว่าราคาความเป็นจริงของตลาดมาก รัฐบาลจะเป็นผู้ออกไปรับซื้อตามราคาตลาดจากชาวนาเอง ถามว่ารัฐบาลรับซื้อแล้วจะนำข้าวไปเก็บไว้ที่ไหนจะจ้างใครแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ในที่สุดก็ต้องกลับมาจ้างโรงสีอยู่ดี วังวนของการประกันราคาจึงยังหนีไม่พ้นโรงสีอยู่ดี เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังต้องคิดให้รอบคอบอีกหลายชั้นสำหรับโครงการประกันราคาข้าว
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการรับจำนำข้าว เกษตรกรจะได้รับโควตาจำนำคนละ 350,000 บาท หรือคิดเป็นข้าวเปลือกประมาณ 30 ตัน (ราคาจำนำข้าวขาวตันละ 11,800 บาท) หากรัฐบาลให้โควตาประกันราคาข้าวเปลือกกับเกษตรกรรายละ 30 ตัน เป็นปริมาณที่พอรับได้ แต่ทั้งนี้ราคาประกันที่ตั้งไว้ต้องสมเหตุสมผลกับต้นทุนการผลิตของชาวนาด้วย หากต่ำเกินไปชาวนาอยู่ไม่ได้พวกเขาก็เดือดร้อน ถ้าชาวนาเดือดร้อนรัฐบาลต้องเดือดร้อนด้วยเพราะชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ส่วนกรณีที่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย บอกว่าโครงการประกันราคาข้าว ให้สิทธิ์ชาวนาจำนำได้รายละ 10 ตัน เท่ากับลดโควตาชาวนาลง 2 เท่าตัว ดร.นิพนธ์ ทำวิจัยเป้าหมายเพื่อลดงบประมาณให้กับรัฐบาล แต่นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรจะคำนวณกันเชิงธุรกิจไม่ได้ เพราะเป้าหมายหลักคือการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนลดงบประมาณเป็นเป้าหมายรอง ซึ่งการช่วยเหลือโดยจำนำราคาหรือประกันราคาเป็นหนทางหนึ่ง แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องไม่ลืมการพัฒนาเกษตรกรชาวนาไทยอย่างยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร หรือระบบชลประทานที่ดีด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |