www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

ม.เกษตรเล็งสร้าง'ซูเปอร์จัสมิน' ตั้งเป้า 3 ปีสู้ข้าวแจ๊ซแมนสหรัฐ


มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาพิเศษ “ข้าวไทยกับการจดสิทธิบัตร : ก้าวต่อไป” เพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นการจดสิทธิบัตรกระบวนการทำงานของยีนความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และความเชื่อมโยงกับการออกพันธุ์ข้าวใหม่ Jazzman ของสหรัฐอเมริกา

รศ.อภิชาติ วรรณวิจิตร นักวิจัยร่วมถือครองสิทธิบัตรกระบวนการทำงานของยีนความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 กล่าวว่า ไทยมี 3 แนวทางที่จะปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมให้ไปได้ไกลกว่าข้าวแจ๊ซแมน คือพัฒนาพันธุ์ข้าวซูเปอร์จัสมิน ที่ทนโรค ทนแมลง ทนสภาพแวดล้อม สำหรับพื้นที่นาน้ำฝนของข้าวขาวดอกมะลิเดิม, ปรับปรุงเพิ่มผลผลิตข้าวหอมต่อไร่สำหรับนาชลประทาน และพัฒนาข้าวหอมโภชนาการสูง อาทิ เสริมธาตุเหล็ก สังกะสี หรือข้าวต้านเบาหวาน

ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรฯ มีแผนจะพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิให้เป็นซูเปอร์จัสมิน โดยเพิ่มคุณลักษณะเด่น อาทิ ทนน้ำท่วม ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ รวมถึงเพิ่มผลผลิตให้ได้ 1.2 ตันต่อไร่ให้ได้ใน 3 ปี

“นักวิจัยไทยมีทั้งเทคโนโลยีและความรู้มากพอ ที่จะพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ขาดก็แต่ทุนสนับสนุนวิจัยที่มีความต่อเนื่อง หากอนาคตยังเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่เพียงข้าวแจ๊ซแมนจากอเมริกาเท่านั้นที่จะต้องกลัว ยังมีออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและจีนที่ซุ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ โดยใช้องค์ความรู้จากเรื่องยีนความหอมเช่นกัน” รศ.อภิชาติ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กล่าว

"สิ่งที่นักวิจัยไทยต้องทำคือ เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ผลผลิตต่อไร่ 1.2 ตัน รวมถึงศึกษาให้ได้ข้อมูลว่า ค่าความหอมของข้าวแจ๊ซแมนมีจริงหรือไม่ เมล็ดพันธุ์ข้าวแจ๊ซแมนปลูกได้กับทุกภูมิประเทศในอเมริกาหรือไม่ เพราะหากปลูกได้จริง การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ของไทยเพื่อการส่งออก ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง"

ทั้งนี้ ข้าวแจ๊ซแมน (แอลเอ 2125) ถือกำเนิดจากข้าวสายพันธุ์ 96a-8 ซึ่งเป็นข้าวหอมของจีน ผสมกับข้าวเมล็ดยาวของอาร์คันซอ เมื่อราวปี 2540 ทีมวิจัยใช้เวลาถึง 13 ปีปรับปรุงและคัดเลือกจนได้สายพันธุ์บริสุทธิ์ ที่พร้อมแจกจ่ายให้เกษตรกรในสหรัฐในปี 2552-2553 โดยให้ผลผลิต 1.2 ตันต่อไร่ ค่าความหอมสูงถึง 597 พีพีบี ทั้งยังมีความนุ่ม เหนียว หอม หวาน ครบเครื่องเหมือนข้าวขาวดอกมะลิของไทย

หากสหรัฐสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวแจ๊ซแมนเพิ่มขึ้นได้สำเร็จ โอกาสทางการตลาดก็มีมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากข้าวแจ๊ซแมนอาจมีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิของไทย เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หากเป็นอย่างนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่า จะเลือกกินข้าวหอมมะลิของไทยหรือข้าวแจ๊ซแมนที่ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของข้าวที่มีกลิ่นหอมแรงมักให้ผลผลิตต่ำ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.