นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่าหลังจากผู้ผลิตข้าวหลายประเทศ ต่างได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำให้ต้องนำเข้าข้าว ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน รวมทั้งอินเดีย ซึ่งส่งผลดีต่อราคาข้าวไทย และเชื่อว่าปีหน้าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ประเมินว่าอาหารโลกปีหน้าจะเสียหาย 20%
อินเดีย ผลผลิตข้าวปีนี้ได้รับความเสียหาย 2-3 ล้านตัน ต้องประกาศลดภาษีนำเข้าข้าวจาก 70% เหลือ 0% จนถึงเดือนก.ย. 2553 เพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากราคาข้าวในอินเดียสูงขึ้น 25%จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน และการที่ผลผลิตปีนี้ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวสารหายไป 15 ล้านตัน เชื่อว่าปีหน้าสภาพอากาศในอินเดียจะแล้งจัดผลผลิตลดลงอีก
ส่วนเวียดนามกลาง ได้รับผลกระทบจากพายุหลายระลอก ทำให้ผลผลิตข้าวหายไป 50% ทางการเวียดนามจึงได้นำข้าวสำรองออกมาให้การช่วยเหลือประชาชน และรัฐบาลเวียดนาม ประกาศว่าหากต้องส่งออกข้าว จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ การส่งออกข้าวของเวียดนามปีหน้าจะลดลงแน่นอน ปี 2553 จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกข้าวไทย เพื่อขายให้กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่สามารถซื้อข้าวจากเวียดนามได้ ขณะเดียวกัน
ปีหน้าข้าวหอมมะลิ3หมื่นบาท/ตัน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากการหารือกับประเทศผู้นำเข้าข้าว เชื่อว่าปี 2553 ตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 3 ราคาข้าวจะสูงขึ้นมาก โดยคาดว่าราคาข้าวหอมมะลิของไทยน่าจะอยู่ที่ตันละ 3 หมื่นบาท ส่วนข้าวขาวจะอยู่ที่ตันละ 1.6-1.8 หมื่นบาท เกษตรกรจะขายข้าวได้ราคาสูง เพราะความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้น
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการผลิตข้าวในปี 2552/2553 ว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 69.35 ล้านไร่ เป็น ข้าวนาปี 57.26 ล้านไร่ อยู่เขตชลประทาน 15.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 41.72 ล้านไร่ ข้าวนาปรัง 12.09 ล้านไร่ เขตชลประทาน 9.32 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.77 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวเปลือกที่คาดว่าจะได้ 31.49 ล้านตัน เป็นข้าวนาปี 23.25 ล้านตัน เป็นผลผลิตในเขตชลประทาน 8.33 ล้านตัน นอกเขตชลประทาน 14.92 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 8.24 ล้านตัน เป็นผลผลิต ในเขตชลประทาน 6.50 ล้านตัน นอกเขตชลประทาน 1.74 ล้านตัน
นโยบายการผลิตข้าวของไทย กำหนดเขตการปลูกข้าวที่เหมาะสมตามกลุ่มพันธุ์ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามหลัก GAP ข้าวไทยต้องปลอด GMO มีพัฒนาและวิจัยพันธุ์ ผลิต กระจายพันธุ์ดีผ่านศูนย์ข้าวชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรม พัฒนาการผลิตข้าว เพื่อตลาดเฉพาะ ส่งเสริมและสนับสนุนชาวนาในการสร้างความเข้มแข็ง
ขยายพื้นที่ปลูกข้าวรับราคาพุ่ง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปีจาก 57.5 ล้านไร่ เป็น 58 ล้านไร่ และข้าวนาปรังจาก 9 ล้านไร่ เป็น 12 ล้านไร่ ขณะเดียวกันเพิ่มผลผลิตต่อไร่ต่อพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีจาก 439 กก./ไร่ เป็น 529 กก./ไร่ และข้าวนาปรังจาก 690 กก./ไร่ เป็น 764 กก./ไร่ ในปี 2553/2554 พัฒนาชาวนาให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตและ จัดการผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพในแหล่งปลูกข้าวหลัก อย่างน้อย 1 ล้านคน รักษาความเป็นผู้นำในด้านการผลิตข้าวคุณภาพดี และส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ปี2553ผลผลิตข้าวโลกหาย1.6ล้านตัน
ขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐ (ยูเอสดีเอ) ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกสำหรับปี 2552/2553 ว่าจะลดลง 1.6 ล้านตัน มาอยู่ที่ 432.1 ล้านตัน หรือลดลงจากปีก่อน 3% โดยมองว่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา และเวเนซุเอลา จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ปริมาณสำรองข้าวโลกยังคงคาดการณ์ไว้ที่ 85.9 ล้านตัน หรือต่ำกว่าปีก่อน 5%
ยูเอสดีเอ ยังปรับลดคาดการณ์ปริมาณการค้าข้าวโลกในปี 2553 ลงมาเล็กน้อย มาอยู่ที่ 29.54 ล้านตัน โดยการส่งออกจากอียิปต์ และอุรุกวัย จะลดน้อยลง 5 หมื่นตัน คาดว่าฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนตัน พุ่งขึ้นไปที่ 2.6 ล้านตัน แต่ยังต่ำกว่าการซื้อขายเมื่อปี 2550 ที่ 31.8 ล้านตัน
ราคาขายข้าวทั่วไปคุณภาพสูงและปานกลางของไทย ปรับขึ้นมาแล้ว 5-8% จากสัปดาห์แรกของเดือนต.ค. ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก การที่ฟิลิปปินส์เข้าซื้อในปริมาณมากช่วงต้นเดือนพ.ย. ทั้งฟิลิปปินส์ยังเปิดประมูลซื้อข้าวเพิ่มอีกในเดือนธ.ค.
การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ มีส่วนทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ราคาข้าวเวียดนามทะยานขึ้น เพราะอานิสงส์จากเรื่องเหล่านี้ เช่นเดียวกับราคาส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาวของสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นมาอีก หลังราคาร่วงลงช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.
สภาพอากาศยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ในปี 2552/2553 คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวโลกจะอยู่ที่ 432.1 ล้านตัน ลดลงจากการประเมินเมื่อเดือนต.ค. 1.6% ลดลงจากผลผลิตในปี 2551/2552 มากกว่า 3%
ผลผลิตฟิลิปปินส์หายกว่า3แสนตัน
ปีนี้ภาคการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากการที่พายุไต้ฝุ่นหลายลูกพัดเข้าถล่มประเทศ คาดว่าผลผลิตข้าวฟิลิปปินส์ในปี 2552/2553 จะลดลง 3.1 แสนตัน มาอยู่ที่ 10.4 ล้านตัน น้อยกว่าผลผลิตในปีก่อนหน้านี้ 3%
ขณะที่อินเดียน่าจะมีผลผลิตปีล่าสุดน้อยลง 1 ล้านตัน มาอยู่ที่ 83 ล้านตัน โดยภาวะฝนแล้งในฤดูมรสุม บ่อนทำลายความสามารถของเกษตรการในการทำนาปี ซึ่งผลผลิตจากการทำนาในช่วงนี้ คิดเป็นสัดส่วน 85% ของผลผลิตข้าวทั้งหมดจากอินเดีย
การทำนาข้าวในละตินอเมริกา เจอปัญหาภัยแล้งเช่นกัน โดยคาดว่าผลผลิตข้าวประจำปี 2552/2553 ของบราซิล จะอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ลดลง 3.4 แสนตัน จากการคาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค. และน้อยกว่าผลผลิตปี 2551/2552 ราว 1%
ภัยแล้ง เป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ยังส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของเวเนซุเอลา โดยคาดว่าประเทศในละตินอเมริการายนี้ จะมีผลผลิตข้าวลดลง 2.5 หมื่นตัน มาอยู่ที่ 4.75 แสนตัน ส่วนอุรุกวัย คาดว่าผลผลิตข้าวจะลดต่ำลงราว 1 แสนตัน มาอยู่ที่ 8.96 แสนตัน ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ทำนาลดลง
ส่วนพื้นที่ทางใต้ของซีกโลกตะวันตกกำลังเจอภัยแล้ง แต่ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ก็ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในสหรัฐเช่นกัน โดยยูเอสดีเอประเมินว่า ผลผลิตข้าวของสหรัฐจะร่วงลง 7.7 หมื่นตัน มาอยู่ที่ 6.98 ล้านตัน แต่ยังมากกว่าปีที่แล้ว 4.64 แสน ตัน
ในทางกลับกัน ผลผลิตประจำฤดูกาล 2552/2553 ของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 1.82 แสนตัน มาอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน โดยการเก็บเกี่ยวที่ได้ผลผลิตมากขึ้นนี้ เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เหมาะสม เช่นเดียวกับยูเครน และออสเตรเลีย ที่เก็บเกี่ยวข้าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 9 หมื่น และ 1.25 แสนตัน ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
หลายประเทศนำเข้าข้าวดันราคาพุ่ง
รายงานของยูเอสดีเอ มองว่า ปัจจัยอีกอย่างที่ดันให้ราคาข้าวโลกพุ่งขึ้น คือข่าวใหญ่สุดจากฝั่งประเทศผู้นำเข้าข้าว ที่ประกาศว่าอินเดียจะมีการนำเข้าข้าวช่วงปลายปีนี้ และในปี 2553 คาดอินเดียอาจจะนำเข้าข้าว 2 แสนตัน ภายในปลายปีนี้ และนำเข้าเพิ่มอีก 2 แสนตันในปีหน้า แม้จะได้ผลผลิตไม่ตรงตามเป้า แต่ปริมาณข้าวสำรองที่อินเดียเก็บไว้ตั้งแต่เริ่มฤดูกาล 17 ล้านตัน น่าจะชดเชยผลผลิตที่ขาดหายไป และรองรับความต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวล็อตใหญ่
สำหรับการซื้อขายข้าวโลกในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 28.3 ล้านตัน โดยปี 2552 มีการเปลี่ยนแปลงด้านการส่งออก 2 ราย รวมถึงการที่ออสเตรเลียปรับลดการส่งออก 1.5 หมื่นตัน มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นตัน ในทางตรงข้าม เวียดนามกลับเพิ่มปริมาณส่งออกอีก 1 แสนตัน เป็น 5.8 ล้านตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|