www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

เก็งราคาข้าวปีหน้าสู่ยุคทอง ทะลุ 800 เหรียญ-เวียดนามสต๊อกเกลี้ยง


นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยถึงแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกว่า ราคาข้าวขาวมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 700-800 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 400-500 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากสาเหตุสำคัญคือ ภาวะภัยแล้งในอินเดีย ซึ่งเป็น 1 ในผู้ส่งออกข้าวสำคัญของโลก ผลผลิตข้าวอินเดีย ลดลง 16-17% จนอินเดียต้องประกาศนำเข้าข้าว 2 ล้านตัน เช่นเดียวกับเวียดนามที่เพิ่งหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมื่อ 1-2 เดือนที่แล้ว และอยู่ระหว่างปลูกข้าวรอบใหม่ทำให้มีปริมาณข้าวจำกัดในการส่งออก ขณะเดียวกันผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าข้าวที่สูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาข้าวในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2553 ปรับตัวสูงขึ้น แต่คงจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากเหมือนปี 2551 เนื่องจากนักเก็งกำไรไม่ได้เข้ามาปั่นราคาข้าวเหมือนช่วงปี 2551 ซึ่งถือว่าน่าพอใจสำหรับไทย ในฐานะผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ที่ต้องการเห็นราคาข้าวตลาดโลกค่อย ๆ ปรับขึ้น และจะส่งผลดีกับราคาข้าวในประเทศ

ไทยรอโอกาสข้าวเวียดนามหมดสต๊อก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคมนี้ ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวอีก 2 ลอตครั้งละ 6 แสนตันน่าจะซื้อจากเวียดนามทั้งหมด 1.2 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้เวียดนามไม่มีข้าวที่จะส่งออกอีก เพราะปัจจุบันเวียดนามอยู่ระหว่างปลูกข้าวฤดูกาลใหม่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ในระหว่างช่วงนี้จะเหลือเพียงไทยที่มีข้าวส่งออกเพียงรายเดียว ผู้ที่ต้องการซื้อข้าวจะต้องติดต่อขอซื้อกับไทยเท่านั้น ส่งผลดีทำให้ราคาข้าวขาวน่าจะปรับสูงขึ้น 600-700 เหรียญสหรัฐ เพราะล่าสุดที่ฟิลิปปินส์เปิดประมูล 2.5 แสนตัน ซื้อในราคาเฉลี่ย 475 เหรียญสหรัฐ

ส่วนทิศทางการส่งออกข้าวไทยในปี 2553 มีปริมาณ 9.5-10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 8.7-8.8 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะส่งออกได้ 8.5 ล้านตัน โดยล่าสุด 11 เดือนแรกส่งออกไปแล้ว 7.5 ล้านตัน ลดลง 18.40%

"ส่วนผลผลิตนาปี ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้าของไทย เพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% ในปีนี้ เพราะพื้นที่เสียหายจากภัยพิบัติอย่าง น้ำท่วมลดลง ซึ่งเดือนก่อนสมาคมได้มาสำรวจแล้วทุกฝ่ายก็บอกว่าเพิ่ม 20-30% แต่ตอนนี้กลับไม่มีสินค้าในตลาด ซึ่งผู้ส่งออกที่ไปรับออร์เดอร์ไว้ กลับไม่สามารถหาข้าวส่งออกได้ บางรายก็ต้องชะลอการรับออร์เดอร์ เพราะกลัวเหมือนปี 2551 แต่การส่งออกข้าวเหนียวปีนี้กลับร้อนแรง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.6 แสนตัน จากที่จีนและอินโดนีเซียมีปัญหาเรื่องผลผลิตและราคาข้าวเหนียวถูกกว่าข้าวเจ้า ต้นปีแค่ 400 เหรียญสหรัฐ แต่ก็น่าห่วงว่าเวียดนามจะมีแย่งส่วนแบ่งการส่งออกข้าวเหนียวปีหน้า"

นอกจากนี้ในวันที่ 23 พ.ย. ทางสมาคมจะประชุมร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือถึงแผนการทำตลาดข้าวในปี 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการที่จะเชิญภาคเอกชนเข้าร่วมเดินทางไปเปิดตลาดข้าวในต่างประเทศ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็มีแผนจะเร่งเจรจาขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยมีเป้าหมายว่าทั้งปีน่าจะมีปริมาณส่งออกข้าวจีทูจี 1.77 ล้านตัน

ราคาข้าวเหนียวพุ่งทะลุหมื่นบาท/ตัน

ด้านนายสมศักดิ์ ตั้งพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีเลียงฮงไชย จำกัด และประธานกลุ่มโรงสีข้าวเหนียว ภายใต้สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้ปริมาณผลผลิตข้าวเหนียวเบา (ข้าวดอ) ลดลงไม่ต่ำกว่า 90% จากปีก่อน เพราะราคาประกันข้าวเหนียว 9,500 บาทต่อตัน ต่ำกว่าข้าวชนิดอื่นจึงไม่จูงใจในการเพิ่มผลผลิต ขณะที่ปริมาณการส่งออกต้นข้าวเหนียว 11 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 2.41 แสนตัน เพิ่มขึ้นถึง 55% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะหลายตลาด เช่น จีน ฟิลิปปินส์ มีความต้องการมากขึ้น

ด้านนายวิเชียร ธีรธนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมโรงสีอีสานเหนือ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวเหนียวหายไปไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อน ตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจาก โรงสีบางแห่งเริ่มซื้อข้าวเหนียวเก็บสต๊อกไว้ จนทำให้ราคาข้าวเหนียวปัจจุบันสูงถึง 10,500 บาท สูงกว่าราคาประกันที่ 9,500 บาทแล้ว และมีโอกาสที่จะสูงเท่ากับปี 2551 ที่ 16,000-17,000 บาท ส่วนข้าวสารเหนียวใหม่ขึ้นไปถึง 18,000 ถึง 20,000 บาท เพราะว่าราคาข้าวเหนียวมีความผันผวนจากการที่ผลผลิตข้าวลดลง

ผลผลิตข้าวไทยปี"52/53 เพิ่ม 10%

รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการสำรวจข้าวพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำพู และอุดรธานี พบว่า ผลผลิตข้าวน่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือกจากทั้งประเทศที่มีประมาณ 5-6 ล้านต้น

ดังนั้นคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ น่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า หรือไม่ต่ำกว่า 25 ล้านตัน จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมีปริมาณ 23 ล้านต้น เพราะพื้นที่เสียหายจากภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมลดลง โดยเฉพาะ จ.ร้อยเอ็ด ปีนี้มีพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และทุ่งน้ำชี ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพียง 7 หมื่นไร่ ลดลงจากปีก่อนที่ความเสียหาย 9 แสนไร่ ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับราคาประกัน เช่น ข้าวเหนียว ตันละ 9,500-10,500 บาท ข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% ไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท แต่ถ้าความชื้นสูง อยู่ที่ 10,000-10,300 บาท

แต่ในที่ประชุมส่วนใหญ่เกษตรกรยังประสบปัญหาจากการดำเนินโครงการประกันรายได้ โดยเฉพาะการทำสัญญากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ล่าช้า เช่น จ.เลย ขึ้นทะเบียน 5.8 หมื่นราย ทำสัญญา 6 ราย จ.ร้อยเอ็ด ขึ้นทะเบียน 1.7 แสนราย ทำสัญญาเพียง 7.5 หมื่นราย จ.นครราชสีมา ขึ้นทะเบียน 1.9 แสนราย ทำสัญญา 5.2 หมื่นราย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.