www.thairiceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

สมาคมค้าข้าวกลุ่มอินโดจีน เอกชนเตือนอาจโดนเพื่อนบ้านหักหลัง


สืบเนื่องจากที่ นางพร-ทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์ ได้ออก มาเปิดเผยถึงแนวความคิดใน การรวมตัวประเทศผู้ผลิตข้าว 5 ประเทศ อันประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า เสนอจัดตั้ง “สมาคม ผู้ค้าข้าวร่วมกันในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวดี- เจ้า พระยา-แม่โขง (แอคเมคส์)” เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวรวมถึงวางยุทธศาสตร์การเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกข้าวของโลก โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสแต่ละประเทศไปศึกษาในรายละเอียด ก่อนจะเปิดทางให้ภาคเอกชนดำเนินการ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 นั้น

ล่าสุด “สยามธุรกิจ” ได้สอบถามความ คิดเห็นต่อเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าว ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า โครงการนี้ถือว่า ดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติเห็นว่าทำได้ยาก

โดยนายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายก กิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่าความคิดที่จะรวมตัวกันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวในแถบอาเซียนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค ดร.อดิศัย โพธารามิก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ครั้งนั้นได้มีการตั้งประเด็นเช่นเดียวกันนี้และทำกันอย่างก้าวหน้าถึงขั้นจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศผู้ผลิตข้าวในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และจีนซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันได้ 23 ล้านตันข้าวสาร จากปริมาณการค้าในตลาดโลก 29 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นร้อยละ 79 โดยมีการกล่าวขานกันว่าจะเป็น OREC (Organization of Rice Exporting Countries) อ้างอิงรูปแบบ การรวมตัวกันในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลกที่เรียกว่า OPEC (Organization of Petroleum Exporting Countries) ในลักษณะที่เป็น Canter รวมกลุ่มเพื่อกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก

แต่ในที่สุดโครงการนี้ก็ล้มเหลวเพราะอินเดียขอถอนตัว เนื่องจากเกรงว่าผลผลิตข้าวจะไม่เพียงพอต่อการส่งออก และกลัวเสี่ยงต่อการละเมิดกฎการค้าของโลก หรือ WTO ซึ่งสังคมโลกไม่ยอมรับ เพราะจะเป็น การสร้างความเดือดร้อนให้กับประชากรโลก ที่อดอยาก ซึ่งต้องพึ่งพาอาหารจากประเทศผู้ผลิตข้าว

นายปราโมทย์กล่าวต่อไปว่า แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี แต่ในเรื่องการบริหาร จัดการไม่ง่าย เพราะแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา พม่า ล้วนขายข้าวในราคาถูกกว่าไทย เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า และทุกประเทศต่างต้องการขายข้าวให้ได้มากๆ โดยมีตลาดหลักๆคือแอฟริกา ซึ่งถ้ามารวมกลุ่มกับประเทศไทยก็ต้องขายในราคาเดียวกับไทย เช่นเคยขายในราคาตันละ 300 เหรียญสหรัฐก็ต้องขยับขึ้นมาขายในราคาตันละ 400 เหรียญสหรัฐ แม้จะขายได้ราคาดีกว่า แต่เขาจะเอาด้วยหรือเปล่า

“ปัญหาของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การรวมตัว แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ ถามว่าใครจะเป็นตัวแทนขายข้าว ถ้าบอกว่าให้ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 เป็นคนขาย เท่ากับว่าใครจะซื้อข้าวก็ต้องมาซื้อกับประเทศ ไทยเท่านั้น จะไปซื้อที่กัมพูชา พม่า หรือเวียดนาม ไม่ได้ ไม่มีใครขายให้ หลังจากทำสัญญาซื้อขายเสร็จแล้วจึงค่อยไปรับข้าวสาร จากประเทศที่เป็นเจ้าของข้าว ซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ”

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า หลักการดี แต่ทางปฏิบัติคงทำได้ยาก และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะการค้าข้าวมีข้อจำกัดในเรื่องการ บริหารจัดการ และการเสื่อมสภาพ รวมถึงการส่งออกข้าวมีอิสระและการแข่งขันสูง หากรัฐจะดำเนินการเองอาจผิดหลักการค้าเสรี หรือหากมีการบังคับให้การส่งออกต้องเข้าระบบที่รัฐวางไว้ อาจต้องมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกันวุ่นวาย

ขณะที่นายสุวรรณ คฑาวุธ อดีตนายก สมาคมชาวนา เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนหน้าเดินโครงการใหญ่ๆแบบนี้ เพราะถ้าทำแล้วดีก็ดีไป แต่ถ้าทำแล้วมีความผิดพลาดอาจทำให้ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการประกันราคา ข้าวของรัฐบาลไทยได้

ที่มา สยามธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@thairiceexporters.or.th


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.