ความคืบหน้าในการตรวจสอบความไม่โปร่งใสกรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) ประมูลสัญญาเช่าไซโล และเป็นตัวแทนขายข้าวของ อคส. ให้กับบริษัทจีจีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ล่าสุด วานนี้ (23 พ.ย.) แหล่งข่าวจากชุดสืบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มบุคคลให้ตรวจสอบพิรุธและความไม่โปร่งใสโครงการของ อคส. ดีเอสไอได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาของ อคส. โดยพบว่านโยบายดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์เอื้อให้ต่างชาติ เข้ามาผูกขาดสิทธิการขายข้าว 2 ล้านตัน ซึ่งผู้ได้รับสิทธิในการจัดหาไซโล 10 แห่งให้ อคส. จะได้สิทธิในการเป็น ตัวแทนขายข้าวให้ อคส. จึงเป็นการนำข้าวของไทย 2 ล้านตัน ให้ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
บริษัทจีจีเอฟก็ไม่มีประสบการณ์ในการค้าข้าว เพราะบริษัทเพิ่งก่อตั้ง 2-3 เดือน ก่อนการประมูลเป็นคู่สัญญาของ อคส. นอกจากนี้การสืบสวนของดีเอสไอยังพบว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยในบริษัทจีจีเอฟ เป็นนอมินีให้กับต่างชาติ ซึ่ง 1 รายในจำนวนดังกล่าวเป็นภรรยาของชาวมาเลเซีย มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.เชียงใหม่ หากผลการประกอบการประสบภาวะขาดทุน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย จะเป็นเพียงนอมินีชาวไทย
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ชุดสืบสวนดีเอสไอจะเร่งแกะรอยถึงกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายได้ประโยชน์จากการอนุมัติให้เซ็นสัญญาการประมูลกับบริษัทจีจีเอฟ และจะตรวจสอบด้วยว่า อคส.มีเหตุผลอย่างไร จึงให้สิทธิการเป็นตัวแทนขายข้าวให้กับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำ และเข้าข่ายเป็นนอมินีได้อย่างไร หากผลการสืบสวนพบพฤติการณ์ความผิดที่ส่งผลเสียหายต่อรัฐ ดีเอสไอจะเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับเป็นคดีพิเศษต่อไป
ชี้จีจีเอฟขาดคุณสมบัติยื่นซองประมูล
ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทจีจีเอฟ ไทยแลนด์ จำกัด ได้เป็นคู่สัญญาในการเช่าไซโลและขายข้าว 2 ล้านตัน กับองค์การคลังสินค้าหรือ อคส.นั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะตั้งแต่จัดตั้งบริษัทมาจนกระทั่งยื่นซองประมูลเข้าเป็นคู่สัญญาของ อคส. ในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทไม่มีข้อกำหนดในการทำธุรกิจเช่าไซโล คลังสินค้าหรือรับฝากสินค้า ทำการประมูลเพื่อซื้อหรือขายสินค้าตามวัตถุประสงค์ให้แก่คณะบุคคล ส่วนราชการ และองค์การของรัฐทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้มีการเปิดให้ยื่นซองประมูลวันสุดท้าย คือวันที่ 5 ส.ค.2552
บริษัทได้ยื่นแก้ไขวัตถุประสงค์วันที่ 9 ส.ค.2552 เพิ่มวัตถุประสงค์ให้ประกอบกิจการให้เช่าคลังสินค้า และไซโล พร้อมกับแก้วัตถุประสงค์ของบริษัทให้ทำการประมูลเพื่อซื้อหรือขายสินค้าตามวัตถุประสงค์แก่คณะบุคคล ส่วนราชการและองค์การของรัฐทั้งในและต่างประเทศ ภายหลังจากยื่นซองประมูลไปแล้ว ณ วันที่ยื่นซองจึงไม่มีคุณสมบัติเข้าดำเนินการเป็นคู่สัญญาของ อคส.ได้ตามกฎหมาย
“พรทิวา” โยนบอร์ด อคส.จัดการ
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่ อคส.ทำสัญญาเช่าไซโลและเป็นตัวแทนขายข้าวให้แก่ อคส.ของบริษัท จีจีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น เป็นอำนาจบริหารจัดการกันเองของกรรมการบริหาร (บอร์ด) อคส. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กำหนดยุทธศาสตร์แนวทางดูแลองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ อคส.เป็นหน่วยงานเก็บสินค้าอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ขายสินค้าอีกต่อไป แต่กรณีดังกล่าวเมื่อมีข้อสังเกตจากสื่อและองค์กรต่างๆ ก็กำชับให้ศึกษาให้เกิดความชัดเจนก่อนดำเนินการขั้นต่อไป ไม่ใช่การสั่งให้เบรกโครงการทันที
หลักการของโครงการนี้ เท่าที่ได้สอบถามมา คือการหาพื้นที่ไซโลที่จะเก็บข้าวในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป และเป็นการนำโมเดลดำเนินการและเนื้อหาสัญญาการเช่าโกดัง-ไซโลของคณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ทำให้ตัวข้อสัญญา ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อมีคำถามเกิดขึ้น จึงมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ตรวจสอบก่อนซึ่งประเด็นหลักที่จะพิจารณา คือ แผนธุรกิจของ อคส. ขณะที่ กขช.ไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
“อคส.ในฐานะหน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อมีคำถามมาเราก็บอกให้ไปศึกษาให้ดี ถ้าไม่ดีก็อย่าไปทำ แต่เรื่องนี้บอร์ด อคส.ดูแลตัวเองเราให้นโยบายไปแล้ว ก็ไม่ได้เข้าไปรู้ทุกเรื่อง” นางพรทิวา กล่าว
ยันเนื้อหาสัญญาเช่าไม่ผูกขาด
ทั้งนี้ สาระในข้อสัญญา ไม่มีข้อผูกพันว่า อคส.ต้องเช่าไซโลของบริษัทดังกล่าว แต่การดำเนินการตามสัญญาหรือไม่ จะเป็นไปตามความเหมาะสม จึงไม่น่าห่วงกรณีว่าจะมีบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่ง ผูกขาดการเช่าไซโล โดยไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ดังนั้น กรอบระยะเวลาของสัญญา 30 ปีจึงไม่น่าห่วง
นางพรทิวา กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นความเป็นนอมินีของบริษัทจีจีเอฟ ยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากต้องรอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและศาลตัดสินตามขั้นตอนกฎหมายแต่พิจารณาเบื้องต้น เชื่อได้ว่าบริษัทนี้เป็นของคนไทย แต่หากพบว่าเป็นนอมินี จะไม่ยอมให้ดำเนินการและทำการยกเลิกสัญญาทันที
ชี้แก้วัตถุประสงค์บริษัทภายหลังเรื่องปกติ
ส่วนประเด็นการเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของบริษัท จีจีเอฟ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งดำเนินการหลังจากชนะประมูลเมื่อ 3 ส.ค. นั้นเป็นธรรมดาของการดำเนินธุรกิจที่สามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ทางธุรกิจได้ การกระทำของบริษัท เป็นไปตามที่อคส.แนะนำเพื่อให้สัญญาสมบูรณ์แบบ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกตกลับว่า การทำสัญญาระหว่าง อคส.และบริษัทจีจีเอฟครั้งนี้ จะทำให้โรงสีเสียประโยชน์ในกรณีที่บริษัทเสนอค่าเช่าไซโลถูกกว่าราคาตลาด ที่ปัจจุบันอัตราตันละ 44 บาทขณะที่บริษัทจีจีเอฟ อัตราตันละ 41 บาท ส่วนผู้ส่งออกจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ จากการมีคู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทจะเป็นหน่วยงานขายข้าวให้ อคส.
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|