นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ได้หยิบยกประเด็นระบายข้าวสต๊อกรัฐบาล 3 ล้านตัน และหลักเกณฑ์การขายต่อรายในปริมาณไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัน ต่อที่ประชุมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาชิกสมาคม ได้ขอให้สภาหอการค้าฯ ประสานไปยังนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ให้ทบทวนเรื่องดังกล่าวและเสนอให้เปิดประมูลสต๊อกข้าวแบบทยอยขายในปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อครั้ง และไม่กำหนดว่าจะต้องขายให้แต่ละรายเท่าไหร่
“ผู้ส่งออกหลายรายกำลังถูกลูกค้าในต่างประเทศสอบถามว่าซื้อข้าวรัฐบาลหรือไม่ เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า หากไม่ซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล อาจต้องเจรจาซื้อกับบริษัทที่เสนอซื้อข้าวรัฐ เพราะเชื่อว่าจะได้ราคาถูกกว่าที่เจรจาซื้อกันอยู่ในตลาด ทำให้ผู้ส่งออกหวั่นถูกเลิกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้ตกลงกันไว้ และหันไปเจรจาซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีข้าวรัฐในมือแทน ซึ่งจะกระทบต่อบริษัทค้าข้าวทั่วไป” นายชูเกียรติ กล่าว
สำหรับนโยบายการเลิกระบบรับจำนำข้าว ที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้ศึกษาอยู่นั้น เป็นเรื่องที่หารือกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าทำได้ยาก และยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีใดเข้ามาบริหารจัดการ แต่เห็นด้วยกับการศึกษาที่จะใช้การอุดหนุนพัฒนาเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิต และจ่ายเพิ่มส่วนต่างแทนวิธีการแทรกแซงทั้งหมด
กรณีความร่วมมือกับประเทศเวียดนามกำหนดราคาขายข้าวโลกนั้น ในทางปฏิบัติไม่เชื่อว่าสามารถทำได้ แม้จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะทั้งต้นทุน และชนิดข้าวของสองประเทศมีความแตกต่างกัน อีกทั้งไม่มีบทลงโทษ หากทำผิดเงื่อนไขข้อตกลง
ก่อนหน้านี้ ทางเวียดนามเคยกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ แต่เมื่อตลาดไม่ยอมรับ ก็ยังมีการขายตัดราคากันอยู่ ทำให้ปัญหาบานปลายมาถึงทุกวันนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กลางเดือนพ.ค.นี้ จะประชุมหารือกับระดับรัฐมนตรีช่วยการค้าและพาณิชย์ ระหว่างไทยกับเวียดนามเพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการข้าวของโลก ในฐานะประเทศผลิตและส่งออกข้าวสำคัญของโลก ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% และจัดตั้งคณะกรรมการร่วม โดยจะหารือแนวทางกำหนดราคาส่งออกข้าวขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดการตัดราคาข้าวกัน
ที่มา โพสต์ทูเดย์ |