www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

วัดใจรัฐบาลล้มประมูลข้าว 2.6 ล.ตัน ผู้ส่งออกผนึกกำลังขู่ฟ้องกลับครม.


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ได้เตรียมนำผลสรุปการเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 2.6 ล้านตัน ซึ่งเปิดซองไปเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ส่งออกจำนวน 17 ราย เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีโอกาสที่ ครม. "อาจจะ" ยกเลิกการประมูล (ล้มประมูล)

เนื่องจากการประมูลข้าวลอตดังกล่าว ทางกระทรวพาณิชย์เสนอขายในราคาที่ต่ำจนเกินไป ส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนจากการประมูลไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลมีโอกาสทำกำไร ประกอบกับการเปิดประมูลข้าวในครั้งนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใสมาก ยกตัวอย่างในเรื่องของราคาข้าวที่ต่อรองได้ เช่น ข้าวขาว 5% ต่อรองได้เพียง 14,001-15,500 บาท ทั้งๆ ที่มีผู้ให้ราคาสูงถึง 15,650 บาทแต่ไม่ขาย, ผู้ชนะประมูลข้าวเหนียวได้ 8,450 บาท ส่วนคนที่เสนอราคา 11,000 บาท แต่ปริมาณน้อยกลับไม่ขาย ทั้งยังเร่งต่อรองในช่วงวันหยุดราชการด้วย

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ประธานบอร์ดองค์การคลังสินค้า ได้เชิญผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลทั้งหมดมาประชุมชี้แจงสถานการณ์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ บริษัทแคปปิตัล ซีเรียลส์ (นครหลวงค้าข้าว), บริษัทเอเชีย โกลเด้นไรท์, บริษัทข้าวไชยพร, บริษัทไรซแอนด์ฟู้ดโปรดักส์, บริษัทพงษ์ลาภ, บริษัทเจียเม้ง, บริษัทสยามอินดิก้า, บริษัทซี.พี.อินเตอร์เทรด, บริษัทืสิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น, บริษัทเจริญผลอินเตอร์เทรด เป็นต้น โดย อคส.ได้ชี้แจงว่า จะต้องนำผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ซึ่งมีโอกาสที่ ครม.จะสั่งยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ได้ ดังนั้นขอให้ผู้ส่งออกที่ทำสัญญากับ อคส.แล้ว กลับไปทำหนังสือร้องเรียนถึง ผลกระทบกรณีที่อาจจะยกเลิกการประมูล เพื่อมาส่งให้ อคส.ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมก่อนการประชุม ครม.จะเริ่มขึ้น

นอกจากนี้ อคส.ยังแสดงท่าทีขอประนีประนอมขอให้ผู้ส่งออกอย่าฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก อคส. ในกรณีที่ ครม.ยกเลิกการประมูลข้าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ทาง อคส.ได้ต่อรองตามกระบวนการและเรียกผู้ชนะการประมูลมาทำสัญญาในวันที่ 18 พฤษภาคมแล้วก็ตาม ซึ่งทางตามหลักเกณฑ์ของการประมูลจะต้องเริ่มรับมอบข้าวภายใน 3 วันนับจากทำสัญญา หากไม่ทำตามนั้นจะถูกปรับอัตราวันละ 0.2% ของมูลค่าข้าวที่ประมูลได้

ด้าน นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากรัฐบาลต้องการความโปร่งใสจะล้มประมูล ควรเลือกล้มเฉพาะข้าวที่ยังไม่ได้ทำหนังสือสั่งซื้อสินค้า หรือ P/O กัน เพราะข้าวส่วนนี้ชำระเงินไปแล้ว 105% ซึ่งจะต้องขนให้เสร็จก่อนแล้วผู้ส่งออกจะได้เงินค้ำประกัน 5% คืน ส่วนข้าวที่ทำไปแล้วก็ควรให้รับมอบต่อไป เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกและรัฐบาลแล้วจึงประมูลใหม่มีโอกาสที่ราคาข้าวจะสูงขึ้น

"หากจะล้มประมูลทั้งหมดผู้ส่งออกคงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ อคส.คู่สัญญา เพราะขณะนี้มีเรือมารอรับมอบข้าวแล้ว" นายสมพงษ์กล่าว

ส่วน นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ผู้จัดการบริษัท สิงห์โตทองไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า หากจะล้มประมูลบริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะโรงสีของบริษัทยังสามารถรับซื้อข้าวจากตลาดปกติได้ ประกอบกับปริมาณข้าวที่ชนะประมูลมีเพียง 8,000 ตัน ในราคา 15,500 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในการประมูลครั้งนี้ ส่วนที่เหลืออีก 400,000 ตันนั้น บริษัทไม่ปรับเพิ่มขึ้นราคาให้ เพราะราคาที่เสนอไป 14,000 บาท/ตันนั้นจะต้องปรับปรุงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 500-600 บาท/ตัน คิดเป็นราคา FOB 420 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"ผู้ส่งออกที่ อคส.เรียกประชุม มีความเห็นทั้งให้ปล่อยเลย เพราะกระบวนการทำสัญญาถูกต้อง แต่ผู้ส่งออกข้าวบางส่วนเสนอให้ยกเลิกเฉพาะข้าวที่ยังไม่ได้ทำ P/O และบางส่วนให้ยกเลิกทั้งหมด เพราะไม่มีความโปร่งใส และหากประมูลใหม่รัฐบาลมีโอกาสจะได้ราคาสูงกว่านี้ แต่ต้องแบ่งเป็นลอตเล็กไม่เกิน 500,000 ตัน เนื่องจากทิศทางตลาดยังดีอยู่ เห็นได้จากการแย่งซื้อข้าวกันทั้ง 2.6 ล้านตัน แสดงว่ามีออร์เดอร์ ทั้งยังมีประเด็นที่ผู้ส่งออกบางรายยอมปรับขึ้นราคาบางโกดังที่ซ้ำกับคนอื่นถึง 50 บาท"

ขณะที่ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอเกณฑ์การพิจารณาราคาขายข้าว รวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยผลการประมูลข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ ได้อนุมัติขายให้กับผู้ชนะการประมูลทั้ง 17 รายไปแล้ว รวมปริมาณข้าวสาร 2 ล้านตัน ขณะนี้ได้มีคำสั่งชะลอการขนย้าย เพราะต้องรอนำเรื่องเสนอให้ที่ประชุม ครม.รับทราบก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์ จะรายงานถึงหลักเกณฑ์การระบายข้าวว่า ได้อนุมัติขายในราคาที่สูงกว่า 14,000 บาท/ตัน ต่ำกว่านั้นไม่อนุมัติให้ขาย ซึ่งราคาที่อนุมัติขายต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อยเพียง 1,000-2,000 บาท/ตัน เท่านั้น

"ได้เรียนท่านนายกฯ แล้ว ซึ่งท่านไม่ติดใจเรื่องราคา แต่ขอดูหลักเกณฑ์ เราก็จะแจ้งให้ ครม.เข้าใจถึงการประมูลว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีเกณฑ์ในการพิจารณาการขาย เพราะต่ำกว่า 14,000 บาทก็ไม่อนุมัติขาย แต่สาเหตุที่ต้องขายต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อย เพราะหากเอกชนซื้อเท่ากับราคาตลาดก็คงไม่มีใครประมูลข้าวกับรัฐบาล เพราะไปซื้อของในตลาดได้สินค้าดีกว่า อีกทั้งการประมูลก็มีเกณฑ์กำหนดคือ เสนอขายยกคลัง โดยให้เอกชนแข่งขันกัน ใครเสนอราคาสูงสุดก็ได้ไป สำหรับบางรายที่ซื้อปริมาณมากก็คงจะต้องลดๆ ลงมาบ้าง" นางพรทิวากล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก ครม.ไม่เห็นชอบผลการประมูลข้าวและสั่งล้มประมูลหรือให้ต่อรองราคาใหม่ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้เซ็นสัญญากับผู้ชนะการประมูลไปแล้วนั้น จัดเป็นเรื่องที่ ครม.จะต้องรับผิดชอบเองเพราะผู้ชนะการประมูลมีสิทธิฟ้องร้อง ครม.ได้ และกระทรวงพาณิชย์ถือว่า ดำเนินการไปถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์มีสิทธิอนุมัติขาย เป็นอำนาจที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อนุมัติไว้

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.