นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (24 พ.ย.) มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2552/2553 โดย ครม.เห็นชอบให้เกษตรกร ที่ได้ขึ้นทะเบียนโครงการประกันรายได้ และได้รับการรับรองผ่านประชาคมมาแล้ว แต่ปรากฏว่ามีปัญหาการใช้สิทธิเนื่องจากบางกลุ่มขายข้าวเปลือกก่อนวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา หรือบางกลุ่มมีปัญหาเรื่องเวลาในการทำสัญญา แต่ได้ผ่านประชาคมแล้ว ให้มีใช้สิทธิเข้าโครงการประกันรายได้ได้ทุกราย และ ครม.ยังเห็นชอบ ให้การใช้สิทธิรับเงินชดเชยส่วนต่างทำได้ทันที ส่วนกระบวนการจ่ายเงินจะใช้เวลานานที่สุดก็อาจจะ 15 วัน
"เดิมหนังสือสัญญาประกันรายได้ที่เกษตรกรทำไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น จะกำหนดวันที่ให้ใช้สิทธิตามสัญญา แต่วันนี้ มีการยกเว้นว่า ให้การใช้สิทธิในสัญญาทำได้ทันที โดยวันที่เขียนไว้ในสัญญานั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา แต่เป็นเพียงการแจ้งเบื้องต้น เพื่อประโยชน์ในการบริหาร ธ.ก.ส.เท่านั้น" นายอภิสิทธิ์กล่าว
พร้อมกันนั้น ครม.ได้เห็นชอบให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเบา หรือข้าวที่มีระยะการปลูกไม่เกิน 100 วัน ให้อนุโลมเข้าโครงการประกันรายได้ได้ แต่จะอนุโลมให้เฉพาะการปลูกข้าวปีการผลิต 2552/2553 เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ โครงการประกันรายได้ จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำข้าวเบาร่วมโครงการ แต่หลายพื้นที่มีปัญหาเนื่องจากเกษตรกรไม่ทราบ จึงมีการปลูกข้าวเบาในฤดูกาลนี้ ส่วนข้าวเบา ที่เข้าโครงการประกันรายได้เท่ากับข้าวขาวหรือข้าวเปลือกเจ้า
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 7 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ปี 2552/2553 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกในโครงการประกันรายได้เกษตรกร จากที่ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) กู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ปี 2552/2553 ขณะที่กู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกในปีการผลิตนี้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท
นายวัชระ ระบุว่า ครม.รับทราบรายงานเร่งรัดการดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกร ของคณะกรรมการประสานงานการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่มีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน โดยพบว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์ ที่มีการแจ้งพื้นที่มากผิดปกตินั้น พบว่า เกิดการบันทึกข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คณะกรรมการจึงเสนอให้ถอนชื่อเกษตรกรที่มาจากพื้นที่มากกว่าจำนวนพื้นที่จริง โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ตรวจสอบข้อมูลและรายงาน ครม.ทราบต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|