www.riceexporters.or.th  
home about us members contact us FAQ link site map English Thai

คุ้มครองพันธุ์ข้าวไทยมรดกชาติ ใช้ยีน"ความหอม"ประยุกต์พืชอื่น


ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระ ราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำคณะผู้บริหาร วท. เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช" ที่ทรงอุทิศพระวรกายในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับสิทธิบัตรยีนที่ควบคุมความหอมในข้าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน คุณหญิงกัลยาเปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งเป็นพิเศษให้รักษาพันธุ์ข้าวไทย โดยเฉพาะสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมในข้าว ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาออกสิทธิบัตรดังกล่าวให้ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้ความคุ้มครองในเรื่องนี้ ดังนั้น ข้าวไทยที่ได้รับการจดสิทธิบัตรจะการันตีว่าข้าวไทยของแท้ต้อง "หอม" และ "นุ่ม" มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชาติอื่นไม่มี และแสดงออกถึงความเป็นชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ โดยหลังจากนี้ วท.จะร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจต้องประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยรักษาข้าวไทยไว้ให้เป็นมรดกของไทยตามที่รับสั่ง นอกจากนี้ วท.จะพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ให้ทนสภาพน้ำท่วมนานกว่า 2 สัปดาห์ และจะพัฒนาข้าวไทยให้ทนแล้งด้วย

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญของข้าวไทย วท.จะร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธาน โดยจะจัดกิจกรรมวันขอบคุณชาวนาเพื่อยกย่องชาวนาที่ปลูกข้าวให้คนไทยได้กินกันมายาวนาน และจะผลักดันให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน ชาวนาแห่งชาติ ซึ่งจะเริ่มอย่างเป็นทางการในปีหน้า

"ทุกๆ ปี วท.โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จะร่วมกับมูลนิธิข้าว ไทยฯ จัดประกวด "รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2552 (Rice Innovation Awards 2009)" มุ่งเน้นคัดเลือกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย รวมทั้งกระบวนการผลิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับนวัตกรรมข้าว ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย หากมีการนำนวัตกรรมเข้าไปแทรกเสริมในหน่วยธุรกิจแล้วจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทยได้มาก เพราะปัจจุบันผลิต ภัณฑ์ข้าวส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของเส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังกรอบ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ผลิตภัณฑ์ข้าวกึ่งสำเร็จรูป และข้าวแช่เยือกแข็ง" คุณหญิงกัลยากล่าว และว่า ในปี 2551 มีปริมาณการผลิตรวมทั้งหมด 530,000 ตัน มูลค่าตลาดในประเทศ 9,300 ล้านบาท มูลค่าตลาดต่างประเทศ 5,520 ล้านบาท แต่หากสามารถนำไปพัฒนาเป็นรูปแบบอื่นๆ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

ด้าน รศ.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยจากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ค้นหา "ยีนควบคุมความหอม" หรือที่เรียกว่า Os2AP ตั้งแต่ปี 2544 โดยถอดรหัสพันธุกรรม ของข้าวขาวหอมมะลิ 105 พบว่าในข้าว มียีนหลากหลายชนิดถึง 50,000 ยีน ต่อมาในปี 2547 สามารถถอดรหัสพันธุกรรมของข้าวจนพบว่ามียีนควบคุมความหอมอยู่ในตำแหน่งที่เรียกว่า โครโมโซม 8 ซึ่งการจะถอดรหัสนี้ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการค้นหา

รศ.อภิชาติกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากค้นพบยีนควบคุมความหอม ทีมวิจัยจึงยื่นจดสิทธิบัตรถึงการค้นพบดังกล่าว รวมทั้งการนำยีนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ โดยยื่นสิทธิบัตรในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2549 และล่าสุดได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐ อเมริกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นประเทศที่ออกสิทธิบัตรยากมาก แต่ประเทศไทยสามารถทำได้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะนอกจากจะประสบความสำเร็จจากการวิจัยแล้ว ยังเป็นการปกป้องพันธุ์ข้าวไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีความหอม นุ่ม น่ากิน และไม่ให้ประเทศอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

"ทีมวิจัยทดสอบประสิทธิภาพของยีน โดยนำไปทดลองในข้าวญี่ปุ่น สายพันธุ์ นิพพอนบาเร ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ไม่หอม แต่เมื่อมีการนำยีนดังกล่าวไปปรับปรุงพันธุ์ข้าว พบว่าข้าวนิพพอนบาเร สามารถ สร้างสารหอมได้ การค้นพบดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องการจดสิทธิบัตร เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ขณะนี้ยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้ว 10 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่เพิ่งได้รับจากสหรัฐเป็นแห่งแรก" รศ.อภิชาติกล่าว

ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดี กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวพร้อม น้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการดูแลรักษาพันธุ์ข้าวไทย มาเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติงาน โดยปัจจุบันกรมการข้าวจัดตั้งยีนแบงก์ หรือธนาคารยีนข้าว เพื่อดูแลการรักษาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นของประเทศไทย ให้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ ไม่ให้มีการปลอมปมจากพันธุ์ข้าวต่างถิ่น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพิจารณารายละเอียดของสายพันธุ์ข้าวไทย เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ข้าวเฉพาะของประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาตินำไปพันธุ์ข้าวไทยไปแอบอ้างเป็นพันธุ์ของตนเองได้

นายประเสริฐกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ปัญหาการลักลอบนำพันธุ์ข้าว ไทยไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศไทย หน่วยงานที่มีอำนาจในเรื่องนี้ต้องเข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะกรมการข้าวไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้

"นอกจากปัญหาเรื่องสายพันธุ์ข้าวแล้ว ขณะนี้ผมมีความเป็นห่วงมากว่ากรณีที่ไทยจะต้องเปิดเขตเสรีการค้าอาเซียน ที่จะ เริ่มลดภาษีเป็นศูนย์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 หากมีการนำเข้าข้าวจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศ และข้าวส่วนนี้ถูกนำมาปะปนกับข้าวไทย จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อการส่งออกข้าวของไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควรเตรียมความพร้อมเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" นายประเสริฐกล่าว

ที่มา มติชน

 


©
Thai Rice Exporters Association

37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678

E-mail :
contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com


Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.