|
ประเคนสต๊อกข้าวให้รายใหญ่ ส.ผู้ส่งออกเต้นถามหาความโปร่งใส
|
มติของคณะอนุกรรมการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 สร้างความประหลาดใจในวงการค้าข้าว เนื่องจากมติระบุให้มีการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ปริมาณ 4.346 ล้านตัน แบ่งเป็นระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ AFET ปริมาณ 763,920 ตัน และระบายด้วยการส่งออกอีก 3.8 ล้านตัน รวมถึงมติที่ให้ผู้แทนองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นประธานคณะทำงานระบายข้าว ซึ่งคณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขการเสนอราคา (ทีโออาร์) ซึ่งเบื้องต้นกำหนดให้ ผู้ส่งออกที่มีหนังสือรับรองการส่งออก (B/L) มายืนยันกำหนดให้เสนอราคาเป็นเงินบาท ตามราคาหน้าคลัง ไม่มีการหักค่าขนส่งหรือค่าเสื่อมราคา และกำหนดวางเงินค้ำประกัน 5%
ก่อนหน้านี้ พรทิวา พยายามส่ง "สัญญาณ" มาตลอดว่า จะระบายข้าว โดยมีข่าวว่า ประธานบอร์ด อคส.เชิญผู้ส่งออกรายใหญ่ 4-5 รายเข้าพบ หลังจากนั้นเกิดความเคลื่อนไหวในวงการข้าว มีการรับซื้อใบ B/L ในราคาสูงถึงตันละ 200-300 บาท ขณะที่ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ในฐานะอธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ ซึ่งคัดค้านการระบายข้าวลอตใหญ่นี้มาอย่างต่อเนื่อง ถูกคำสั่งย้ายฟ้าผ่า โดยเจ้าตัวถึงกับยอมรับว่า ไม่ทราบเรื่องมาก่อนเมื่อวันที่ 7 เมษายน
แหล่งข่าวในวงการค้าข้าว ให้ข้อมูลว่า ต้องยอมรับว่า ปริมาณการส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้มีเพียง 2 ล้านตัน ลดลงถึง 32.8% เนื่องจากราคาตลาดโลกลด ประกอบกับผู้ซื้อส่วนใหญ่มีสต๊อกในมือมากตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมกับเวียดนามและอินเดีย เริ่มส่งข้าวออกสู่ตลาดมาก ในขณะที่ราคาข้าวในประเทศขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งออกได้ จากปัญหาต้นทุนรับซื้อในประเทศสูง จึงลำบากที่จะไปตัดราคาขายแข่งกับเวียดนาม จึงเหลือเพียงกลุ่มผู้ส่งออกที่ประมูลข้าวได้เท่านั้นที่มีศักยภาพในการส่งออกได้
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า อคส.เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้การประชุมครั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมด้วย แต่มีความผิดปกติมาจากการส่งหนังสือเชิญประชุมให้กับหน่วยงานบางหน่วยงานช้ากว่ากำหนดการประชุมที่จะเริ่มขึ้น 1-2 ชั่วโมง เหมือนเป็นความตั้งใจที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการพิจารณาเงื่อนไขการประมูลอย่างแท้จริง และในช่วงนี้เป็นจังหวะที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรักษาการอยู่ จึงเป็นสุญญากาศในการดำเนินการของกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการระบายข้าว
ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตั้งเงื่อนไขการประมูลข้าวอย่างกว้างขวางในวงการค้าข้าว โดยเฉพาะเงื่อนไขที่จะเปิดให้ผู้ซื้อเสนอราคาซื้อข้าวขั้นต่ำ 5 แสนตันขึ้นไป ถือว่าเป็นเงื่อนไขเอื้อเฉพาะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่ทุนหนา ซึ่งในตลาดข้าวมีเพียง 2-3 รายเท่านั้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่าขณะนี้ตลาดต่างประเทศได้ชะลอการสั่งซื้อข้าวไปนานแล้ว เพราะอินเดียน่าจะเริ่มกลับมาส่งออกหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งแนวโน้มราคาข้าวน่าจะปรับลดลง ซึ่งในจุดนี้ทำให้ผู้ส่งออกรายเล็กและรายกลางเสียเปรียบรายใหญ่อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองสูง และมีสต๊อกข้าวในมือ ต่างชะลอการซื้อข้าวในตลาดแล้ว เพื่อรอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกนาปรังในตลาดตกต่ำลงมา โดยข้าวสดขณะนี้ถูกกดราคาเหลือแค่ตันละ 8,000 บาท จากก่อนหน้านี้ที่ซื้อขายตันละ 9,000 บาท จนทำให้คาดกันว่า น่าจะมีจำนวนข้าวเข้าโครงการรับจำนำนาปรัง ปี 2552 เต็มโควตา 2.5 ล้านตันก่อนกำหนด เพราะขณะนี้มีถึง 1.5 ล้านตันแล้ว ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลต้องขยายโควตารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่มขึ้นอีก เหมือนการขยายการรับจำนำในช่วงที่ผ่านมา
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ประชุมสมาคมได้หยิบยกประเด็นการระบายข้าวในสต๊อก รัฐบาล 3 ล้านตัน ขึ้นมาหารือ โดยส่วนใหญ่สมาชิกไม่เห็นด้วยที่ รัฐกำหนดเงื่อนไขต้องเสนอซื้อขั้นต่ำ 5 แสนตัน เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออก รายใหญ่ทำให้ข้าวไปตกในมือผู้ส่งออก ไม่กี่ราย ซึ่งจะส่งผลต่อกลไกการค้าข้าวเสรี ที่ผู้ส่งออกรายกลางและเล็กไม่สามารถ แข่งขันได้ เพราะต้องซื้อข้าวจากตลาดที่มีราคาสูงกว่าซื้อจากรัฐบาล
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ราคาข้าว พบว่าราคามีแนวโน้มลดลงจาก 2 ปัจจัยหลักคือ การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลไทยจำนวนสูงถึง 3 ล้านตัน และภาวะตลาดข้าวปีนี้ชะลอตัวตามปริมาณสต๊อกที่แต่ละประเทศเหลืออยู่ เช่น อินเดียที่คาดว่ามีข้าวในโกดังมากถึง 20 ล้านตันจากปกติจะมีอยู่เพียง 12 ล้านตัน และอินเดียมีแผนส่งออกในกลางปีนี้ ทำให้ภาพรวมตลาดชะลอคำสั่งซื้อ เพื่อรอความชัดเจนของราคาตลาดที่อาจตกต่ำลงมากกว่านี้
"ต้องการให้รัฐบาลไทยดำเนินการระบายข้าวอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับ ผู้ประกอบการทุกรายเพราะการกำหนดระบายข้าวในขณะนี้ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแต่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบคือไม่ระบายปริมาณมากจนเกินไป" นายชูเกียรติกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |
| |
|
|
© Thai Rice Exporters Association
37 Soi Ngamduplee , Rama 4 Road , Toongmahamek , Sathorn District , Bangkok 10120 ,
Tel. 0-2287-2674-7 , 0-2287-2663-4 , Fax : 0-2287-2678
E-mail : contact@riceexporters.or.th or reat@ksc.th.com
Copyright © 2009 All rights reserved by Thai Rice Exporters Association.
|
|
|