นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอหลักการเรื่องการระบายข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่รับจำนำให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งโดยหลักการเห็นตรงกันว่า ต้องระบายเพื่อส่งออกไปและไม่ให้เวียนกลับเข้ามา ต้องระบายออกไปโดยไม่ให้กระทบต่อราคาตลาด และต้องคำนึงถึงการเสื่อมสภาพของสินค้าที่เก็บไว
้ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ หรือราคาที่จะระบาย ยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงได้มอบให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปกำหนดแนวทางและนำเสนอกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในสัปดาห์หน้า
ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการทำสัญญาระบายข้าวออกไปแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการ ทำให้เอกชนที่ชนะการประมูลเตรียมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้รายงานเรื่องนี้เข้ามา แต่เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องเป็นผู้ชี้แจง
ตั้งสุเทพเคลียร์เกาเหลาพรทิวา-กอร์ปศักดิ์
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การแต่งตั้งนายสุเทพเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะนายกอร์ปศักดิ์ ซึ่งดูแลคณะกรรมการนโยบายข้าวไม่สามารถดูแลได้ ส่วนสาเหตุที่ตนไม่เข้าไปดูเรื่องนี้ด้วยตนเอง เพราะตนเป็นประธานคณะกรรมการ นโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) อยู่ และบังเอิญว่าใน กขช.มีภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการด้วย จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะไปลงไปดูเรื่องวิธีการระบายข้าว ทั้งที่ความจริงเรื่องดังกล่าว จะต้องเข้าสู่การพิจารณาในกรรมการชุดที่ตนเป็นประธาน
“สาเหตุที่ให้นายสุเทพเข้ามาดูเรื่องนี้ เพราะนายกอร์ปศักดิ์ และนางพรทิวา มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้าง นายสุเทพก็จะได้เข้ามาช่วยดูเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่มีหลากหลายมาก และไม่ใช่ว่าจะให้นายสุเทพไปคอยประสานกับทางแกนนำพรรคภูมิใจไทย”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การตั้งนายสุเทพมาเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน และไม่ได้หารือรายละเอียดถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ กับคณะกรรมการชุดที่นายกอร์ปศักดิ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ ในที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีหลายคนโดยเฉพาะในซีก ปชป.แสดงความเป็นห่วงว่า การตัดสินใจตั้งคณะกรรมการชุดนี้ของนายกฯ อาจจะทำให้ภาพลักษณ์นายกฯ ดูไม่ดี ที่เหมือนเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากประชุม ครม. เสร็จ นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ขอที่จะแถลงเรื่องนี้ด้วยตนเอง พร้อมกับขอร้องให้รองโฆษกคนอื่นห้ามให้ข่าวเรื่องนี้แก่สื่อมวลชน
ชงวิธีการระบายให้ ครม.สัปดาห์หน้า
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางการระบายสินค้าเกษตร 3 ชนิด ครม.จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการระบายสินค้าอย่างครบวงจร ที่มีนายสุเทพเป็นประธานขึ้นมาพิจารณารายละเอียดต่างๆ ก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า
สำหรับสาเหตุที่ครม.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพราะต้องการให้มีการวางกรอบการแก้ไขปัญหาเกษตรอย่างครบวงจร ครม.จึงเห็นว่าเพื่อให้เรื่องทั้งหมดดำเนินการโดย ครม. ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องมาให้ ครม.รับทราบ หรืออนุมัติ ครม.จึงต้องกำหนดหลักการเอง เพราะที่ผ่านมา มีปัญหามากกว่าอำนาจในการระบายเป็นของใคร จึงได้แต่งตั้งคณะกรรม-การขึ้นมาพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ส่วนกรณีกระทรวงพาณิชย์อาจมีการดำเนินการที่ขัดกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อนการระบายสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำ แต่ทางกระทรวงพาณิชย์กลับไปเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับเอกชน เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการชุดที่ตั้งขึ้นก็จะมีการพิจารณาให้การระบายสินค้าเกษตรมีผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด โดยเข้าวางหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะความผิดพลาดของนางพรทิวา แต่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนๆ ครม.จึงต้องการหาทางออกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย
ครม.รุมยำขายข้าวซัดขัดมติ ครม.
แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ และนายกอร์ปศักดิ์ และรัฐมนตรีอีกหลายคนได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการระบายข้าวในสต็อกของกระทรวงพาณิชย์ ให้เอกชนจำนวน 2.2 ล้านตัน ว่า เหตุใดราคาที่ประมูลขายให้เอกชน จึงมีราคาต่ำกว่าราคาตลาด อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลข้าวครั้งนี้ เหตุใดเอกชนที่เสนอราคาสูงกว่า จึงไม่ได้รับคัดเลือก
ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ สอบถามว่าเหตุใดคณะอนุกรรมการระบายข้าว ที่กระทรวงพาณิชย์ แต่งตั้ง เป็นคนละคณะกับคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่ กขช.แต่งตั้งที่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงาน เข้ามาร่วมพิจารณา ความจริงเรื่องการระบายข้าว ตนอยากให้กระทรวงพาณิชย์เสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาก่อนเพื่อความรอบคอบ
จากนั้นนางพรทิวาและนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจง ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสารที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการพิจารณาการประมูลข้าวให้เอกชน ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้ ทางอนุกรรมการจะมีสูตรการคำนวณราคาอย่างละเอียด และที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ก็ใช้แนวทางนี้ในการระบายมาโดยตลอด โดยมีองค์การคลังสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบในการขายข้าว
ชี้รัฐบาลก่อนขายขาดทุน1.5หมื่นล้าน
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านมา มีปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด และเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้ว ในสมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ได้มีการเปิดประมูลขายข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี เพื่อส่งออกจำนวน 729,795.286 ตัน หรือประมาณ 2.7 ล้านตันข้าวเปลือก รัฐบาลก็ขาดทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก ราคาขายกับราคาต้นทุนที่รับจำนำแต่งต่างกันมาก โดยอ้างว่าเป็นเพราะมีข้าวที่ไม่มีคุณภาพอยู่เป็นจำนวนมาก
หลังจากนายอภิสิทธิ์กล่าวจบ รัฐมนตรีในโควตาของพรรคภูมิใจไทย ได้อภิปรายช่วยนางพรทิวา โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช. มหาดไทย ระบุว่า ความจริงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องเอาใจเกษตร กรอยู่แล้ว เพราะราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก เมื่อมีการขายสินค้าออกไปทำอย่างไรก็ขาดทุน อยากขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้ให้กับนางพรทิวาด้วย
ขณะที่นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวเสริมว่า หากเรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่ ครม. สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา เหมือนกับโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน
พรทิวาปัดขัดแย้งปชป.
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์กำกับดูแลสินค้าเกษตรนั้น สามารถรับในหลักการนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นปัญหาการแทรกแซงการทำงาน หรือเป็นชนวนให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือเป็นการเข้ามาช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ช่วยให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นและอนาคตกำลังดูว่าจำเป็นหรือไม่จะมีการยกเลิกการจำนำสินค้าเกษตร
“ส่วนเรื่องข้าวที่มีการนำเข้า ครม.ได้มีการชะลอการพิจารณาไว้ก่อน เพราะหลายคนยังมีข้อสงสัยเรื่องวิชาการ จึงให้ไปศึกษาและนำเข้าพิจารณาอีกครั้งสัปดาห์หน้า”
เอกชนชี้อาจถูกเรียกเจรจาเพิ่มราคา
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกไทย กล่าวว่า มติครม.ตั้งกรรมการดูแลสินค้าการเกษตรทั้งระบบ ทำให้มีการชะลอการระบายสต็อกข้าวรัฐโดยอัตโนมัติแม้กระทรวงพาณิชย์จะได้เจรจาต่อรองกับผู้ชนะประมูลข้าวสต็อกรัฐไปแล้ว 17 ราย ซึ่งต้องติดตามว่า จะมีการชะลอการอนุมัติขายข้าวให้แก่ภาคเอกชนหรือไม่ และอาจจะเป็นไปได้ที่คณะกรรมการจะเรียกผู้ชนะการประมูลทั้ง 17 ราย มาขยับราคาขึ้น เพื่อรัฐบาลจะได้ขาดทุนน้อยลง ซึ่งคงต้องดูว่าภาครัฐจะเรียกผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลหรือไม่ หากผู้ส่งออกรับได้และปรับราคา เชื่อว่าการซื้อขายล็อตนี้คงไม่มีการฟ้องร้อง
“หากไม่สามารถตกลงกันได้ อาจจะเกิดการฟ้องร้อง แต่เชื่อว่าภาคเอกชนไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาล เพราะเป็นการทำธุรกิจที่จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”
ผู้ส่งออกเล็งฟ้องอคส.คายข้าว
แหล่งข่าวจากวงการผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าวสารสต็อกรัฐบาล 2 ล้านตัน ได้ทำหนังสือถึง อคส. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เอกชนเข้าไปรับมอบข้าวในโกดัง โดยเฉพาะข้าวที่ได้มีการชำระเงินค่าข้าวตามสัญญาที่ทำไว้กับอคส.ไปแล้ว เพราะขณะนี้มีเรือเข้ามารอรับมอบข้าวตามคำสั่งซื้อ หากไม่มีข้าวไปส่งออกส่งผลต่อชื่อเสียงของประเทศไทยได
้“เกรงว่าผู้นำเข้าจะหันไปสั่งซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งแทน ส่วนการฟ้องร้องความเสียหาย ตามสัญญา ขึ้นอยู่กับเอกชนแต่ละราย บางรายได้แจ้งความกับตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
พาณิชย์อ้างเซ็นขายข้าวไม่ผิด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการระบายข้าวตามกระบวน-การครบทุกขั้นตอน ตามมติคณะกรรมการ นโยบายข้าว (กขช.) ที่มีนายกฯเป็นประธาน แม้ว่าครม. มีมติให้นำการระบายสินค้าเกษตรที่อยู่ในโครงการรับจำนำ และประสบปัญหาขาดทุนเสนอให้ ครม.ร่วมพิจารณานั้น เกิดขึ้นในวันที่ 13 พ.ค. 2552 แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดประมูลข้าวในวันที่ 6 พ.ค. 2552 และอนุมัติขายข้าวให้กับผู้ส่งออก 17 ราย ปริมาณรวมกว่า 2 ล้านตัน ก่อนวันที่ ครม.จะมีมติและผู้ส่งออกได้มาทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) หลังวันที่ 13 พ.ค.ไปแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องของการเปิดประมูลข้าว
หากเอกชนที่ทำสัญญากับ อคส.จะดำเนินการฟ้องร้อง ต้องพิจารณาว่าใครคือผู้ที่ตัดสินใจ ให้ระงับการขาย และผู้ที่ต้องรับผิดชอบต้องพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ว่าใครทำตามอำนาจหรือเกินอำนาจหรือใครใช้อำนาจขาดไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |