นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดข้าว ในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ภายหลังรัฐบาลใช้นโยบายรับประกันราคา โดยได้เตรียม 7 มาตรการรองรับ ซึ่งจะเสนอให้ กขช. ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาวันที่ 29 ก.ค. นี้
“ทั้ง 7 มาตรการ จะนำมาใช้ในกรณีที่ ราคาข้าวตกต่ำเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งต้องดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ขณะที่รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง” นางพรทิวา กล่าว
มาตรการทั้ง 7 ได้แก่ 1.ให้โรงสีรับซื้อข้าวในราคานำตลาดตันละ 100-200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือแล้วแต่ช่วงเวลาสถานการณ์ราคาในขณะนั้น โดยรัฐบาลจะช่วยชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้สำหรับโรงสีที่รับซื้อ ซึ่งโรงสีจะเก็บข้าวไว้ในรูปข้าวสารหรือข้าวเปลือกก็ได้
2.ให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และสหกรณ์การเกษตรต่างๆ รับซื้อข้าว ในระยะเวลาที่เหมาะสม และให้เก็บเป็นข้าวเปลือก โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกแหล่งเงินกู้และอัตราดอกเบี้ย เบื้องต้นแหล่งเงินกู้จะมาจากกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
3.ในส่วนข้าวหอมมะลิให้จำนำในยุ้งฉางเกษตรกร กำหนดให้ราคาต่ำกว่าตลาดตันละ 1,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน
4.ให้กรมการค้าต่างประเทศ ผลักดันการส่งออก
5.ให้จังหวัดจัดตลาดนัดเพื่อให้มีการซื้อขายข้าวให้มากขึ้นในระดับจังหวัด 6.ให้ส่งเสริมผู้ส่งออกขายข้าวได้มากขึ้น 7.กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ส่งออกเก็บสต็อกสำรองข้าวเพื่อการส่งออกสูงขึ้น เดิมกำหนดไม่ต่ำกว่า 500 ตัน
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดการกำหนดสัดส่วนสต็อกข้าว จากภาครัฐก่อนว่าออกมาเท่าใด ถ้าสัดส่วนน้อยคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากกำหนดสัดส่วนมาก จะเป็นภาระด้านต้นทุนของผู้ส่งออก ต้องใช้เงินซื้อข้าวเข้ามาเก็บในสต็อกมากขึ้น ซึ่งไม่มีปัญหากับผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ผู้ส่งออกรายเล็กหากรัฐกำหนดสต็อกสำรองสูง ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสต็อกเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันลดลง
“การออกมาตรการนี้คาดว่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออก เข้าไปซื้อข้าวจากชาวนาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรโดยตรง แต่ผู้ส่งออกข้าวต้องรอดูก่อนว่ารัฐกำหนดสัดส่วนสต็อกออกมาเท่าไร อยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกให้ส่งออกได้มากขึ้นด้วย เช่น รัฐอาจจะหาตลาดใหม่แบบรัฐต่อรัฐ และจ้างเอกชนปรับปรุงข้าวก่อนส่งออก" นายสมบัติ กล่าว
ิที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|