บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายข้าวของรัฐบาลนับว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นมาตรการที่เตรียมรับมือกับการเปิดเสรีตลาดข้าวในช่วงต้นปี 2553 ตามข้อตกลงกับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และเป็นการผลักดันให้มีการปรับปรุงนโยบายการแทรกแซงตลาดข้าวจากมาตรการรับจำนำเป็นมาตรการประกันราคา เพื่อลดภาระขาดทุนในการดำเนินมาตรการรับจำนำข้าว ซึ่งมาตรการประกันราคาข้าวยังคงมีจุดมุ่งหมายช่วยเหลือชาวนา ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวก็ได้รับประโยชน์ เนื่องจากข้าวจะไม่เข้าไปกองอยู่ในสตอกของรัฐบาล และผู้ส่งออกข้าวหาซื้อข้าวเพื่อการส่งออกไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูการผลิต
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของนโยบายการประกันราคาที่จะนำมาใช้แทนมาตรการจำนำราคาข้าวนั้น แม้ว่าจะช่วยลดภาระรัฐบาลในการแบกภาระสตอกข้าว ลดความเสี่ยงของโอกาสทุจริตแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ยังมีโอกาสที่รัฐบาลอาจจะต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการหันมาใช้นโยบายประกันราคา โดยเฉพาะกรณีชาวนายังผลิตข้าวอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ต้องรับความเสี่ยงในเรื่องราคา จึงมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ข้าวล้นตลาด และราคาตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาประกัน ดังนั้นนอกจากการจดทะเบียนชาวนาแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องควบคุมปริมาณข้าวที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการประกันราคาเช่นเดียวกับการกำหนดปริมาณการรับจำนำข้าว
นอกจากนี้ การกำหนดราคารับประกันนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากถ้ากำหนดราคาประกันสูงกว่าราคาตลาดก็จะเท่ากับไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการใช้มาตรการรับจำนำ และมาตรการประกันราคานั้นยังควบคุมลำบากกว่า เนื่องจากมาตรการรับจำนำเป็นการดึงปริมาณข้าวออกจากตลาดในราคาที่กำหนดไว้ แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรทำให้เกิดปัญหาขาดทุน ขณะที่การใช้มาตรการประกันราคานั้นปริมาณข้าวทั้งหมดยังอยู่ในตลาด ซึ่งราคาอาจจะผันผวนไปตามภาวะตลาดทั้งในประเทศ และตลาดส่งออก ทำให้อาจกระทบต่องบประมาณที่จะใช้ในการประกันราคา
ิที่มา สำนักข่าวไทย
|