นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การประกาศปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนามลงไป 5% มีโอกาสทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวให้กับเวียดนามเพิ่มขึ้น เพราะราคาข้าวเวียดนามจะถูกลงไปอีก จากปัจจุบันที่ข้าวเวียดนามถูกกว่าไทยอยู่แล้ว ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยกับข้าวเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 480-500 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวชนิดเดียวกันของไทยอยู่ที่ตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าลดค่าเงินด่อง จะทำให้ราคาข้าวเวียดนามลดลงมาอยู่ที่ตันละ 460-470 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกข้าวของเวียดนามอย่างมาก และจะเห็นผลกระทบได้ชัด ในการเปิดประมูลซื้อข้าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ 6 แสนตัน ช่วงต้นเดือนธ.ค. ที่คาดว่าเวียดนาม จะชนะการประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ทั้งหมด
“การลดค่าเงินด่อง จะทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น แม้ว่าเป้าหมายการลดค่าเงิน เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศก็ตาม แต่ผลข้างเคียงที่ได้สินค้าเกษตรของเวียดนาม จะมีศักยภาพแข่งขันดีกว่าไทยแน่ ปกติข้าวไทยกับเวียดนาม จะห่างกันอยู่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข่งขันยากอยู่แล้ว เพิ่งมาช่วงหลังที่ราคาข้าวเวียดนามขยับขึ้นมา แต่พอลดค่าเงินทำให้ช่องห่างกลับไปอยู่ที่เดิม” นายชูเกียรติ กล่าว
นายวิจิตร สุพินิจ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงการที่เวียดนามลดค่าเงินด่อง 5% ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับเรื่องส่งออก ซึ่งไทยควรจะดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ตามที่ผู้ประกอบการเรียกร้อง โดยขณะนี้ค่าเงินบาทยังไม่เสถียรภาพนัก แต่ก็เห็นใจ ธปท. รวมทั้งไทยคงไม่สามารถประกาศลดค่าเงินได้ทันทีเหมือนเวียดนาม ซึ่งการดูแลค่าเงินจะต้องกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว เพราะถ้าเข้าไปแทรกแซงทันทีจะมีปัญหา
นอกจากนี้ เวียดนามเป็นคู่แข่งการส่งออกของไทยหลายชนิด เช่น สินค้าเกษตร โดยถ้าในระยะสั้น คงยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกข้าวของไทยเพราะราคาข้าวยังมีแนวโน้มดี ซึ่งเป็นไปได้ที่ในอนาคตที่ผู้นำเข้า จะเลือกซื้อสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเกษตรพื้นฐานและสินค้าที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งการส่งออกของเวียดนามยังมีสัดส่วนไม่ถึง 50% ของจีดีพีเวียดนาม แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งออกมาก เหมือนหลายประเทศที่มีการดูแลค่าเงินเพื่อการส่งออก เช่น จีน อินโดนีเซีย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่เวียดนามปรับลดค่าเงินด่อง เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและผลักดันการส่งออกเพิ่มมากขึ้นนั้น คงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเวียดนามเช่นกัน เพราะไทยยังได้เปรียบด้านคุณภาพสินค้า
“การที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินด่องประเทศเดียว อย่าไปเครียดมาก แต่ถ้ามาเลเซีย อินโดนีเซียลดค่าเงินด้วย นั่นแหละไทยจึงจะได้รับผลกระทบไปด้วย” นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปี น่าจะแข็งค่าไปอยู่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2553 น่าจะแข็งอีก 3-5% แต่คงไม่ไปถึง 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะเร็วไปและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้เงินบาทไปถึงระดับนั้น และในปี 2553 ไทยจะมีการนำเข้าตามโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งมากขึ้น น่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|