นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ โดยใช้เวลาพิจารณากว่า 1.30 ชั่วโมงจาก 18.00 - 19.30 น. ว่า ที่ประชุมหารือหลักเกณฑ์การทำงานเกี่ยวกับการระบายสินค้าเกษตร ในโครงการรับจำนำที่รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ได้ข้อสรุปที่สำคัญที่มั่นใจว่า ทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าในการระบายสินค้าเกษตรได้อย่างราบรื่น
ดังนี้ 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะตั้งคณะทำงานพิเศษเกี่ยวกับการระบายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้ง ซึ่งคณะทำงานจะยกร่างยุทธศาสตร์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตร ในโครงการรับจำนำของรัฐบาล โดยยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นจะประกอบด้วย ระยะเวลาการระบาย ปริมาณที่จะระบาย ฤดูกาลที่จะระบายควรเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อจัดทำยุทธศาสตร์เสร็จแล้ว คณะทำงานจะเสนอเรื่องให้อนุกรรมการด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณา เมื่ออนุกรรมการพิจารณาเสร็จก็จะเสนอให้ประธานที่กำกับดูแลสินค้าเกษตรนั้นๆ ให้ความเห็นชอบ
2.การระบายสินค้าเกษตรจะมีการแยกคุณภาพสินค้าเป็นเกรด และจะมอบหน้าที่ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ อ.ต.ก.ดูแลรักษาสินค้าเพียงประการเดียว พร้อมทั้งจะมีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพ ก่อนประมูลขายทุกครั้ง โดยจะมีการส่งผู้ตรวจสอบเข้าไปตรวจ
“ถ้าทำอย่างนี้เชื่อว่าทุกคนก็เข้าใจ และชี้แจงต่อประชาชนได้ ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะไปแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาและจัดทำเป็นรายงาน เสนอให้ ครม.พิจารณา โดยในคืนวันอังคารที่ 2 มิ.ย.คณะทำงานชุดพิเศษจะประชุมอีกครั้ง เพื่อพิจารณายกร่างก่อนเสนอ ครม.วันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการเช่นนี้จะทำให้การระบายสินค้าเป็นไปรวดเร็ว และเราจะเก็บยุทธศาสตร์การระบายไว้เป็นความลับ ไม่ให้รั่วไหลไปสู่เอกชน” นายสุเทพกล่าว
จี้พาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์
นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์เซ็นสัญญาขายข้าวให้เอกชน 2.2 ล้านตันนั้น ทางคณะกรรมการพิจารณาเพียงหลักเกณฑ์การระบายสินค้าเกษตรในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร ไม่ได้ก้าวล่วงในสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไปแล้ว จึงไม่ได้มีการหารือกันเรื่องนี้ หากเรื่องใดที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไปแล้ว แต่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ออกมา กระทรวงต้องไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์
โดยหลังจากนี้คิดว่าทุกอย่างจะชัดเจน เพราะคณะทำงานที่มีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน จะเสนอยุทธศาสตร์ก่อนว่า ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจะระบายสินค้าเกษตรและประมูลขายสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับภาวะตลาดอย่างไร และให้ดำเนินการได้ทัน โดยไม่ต้องเสนอ ครม.แต่ต้องรายงานให้ ครม.รับทราบ
“พรทิวา”ยอมปรับยุทธศาสตร์ใหม่
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการทำงานที่ได้มีการหารือร่วมกัน และจะกลับไปพิจารณาแนวทางการทำงานว่าจะปรับปรุงอะไรบ้าง ส่วนการขายข้าว 2.2 ล้านตันให้เอกชน 17 รายต้องกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร แต่คงต้องรอให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนก่อน
เมื่อถามว่า จะมีการล้มประมูลข้าว 2.2 ล้านตันหรือไม่ นางพรทิวา กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดเช่นนั้น เพราะต้องกลับไปดูรายละเอียดว่าจะทำอะไร เพราะต้องดูว่ายุทธศาสตร์ที่ออกมาจะมีแนว ทางอย่างไร ส่วนเมื่อยกเลิกไปแล้วทางเอกชนอาจจะฟ้องร้อง ก็ต้องว่ากันไป แต่ข้อยุติในที่ประชุมถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ และเชื่อว่าจะทำงานได้รวดเร็วขึ้น
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมสามารถตกลงหลักเกณฑ์การระบายสินค้าเกษตร และที่ประชุมรับข้อเสนอที่จะให้กรมการค้าต่างประเทศรับเป็นเจ้าภาพระบายสินค้าเกษตรแทน อคส. โดยยืนยันว่าทุกอย่างจบลงด้วยดี และทุกฝ่ายรับได้กับข้อสรุปในครั้งนี้ ขณะที่การยกร่างยุทธศาสตร์ระบายสินค้าเกษตรนั้น กระทรวงพาณิชย์จะนำกลับไปพิจารณาในรายละเอียดก่อนเสนอ ครม.ในการประชุมสัปดาห์หน้า
เผยสุเทพหักพาณิชย์ล้มขายข้าว 2 ล้านตัน
แหล่งข่าวจากที่ประชุม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมไม่ได้หารือถึงการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมา เพียงแต่พูดหลักเกณฑ์ใหม่ที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ไปเซ็นสัญญาขายข้าวให้กับพ่อค้า 17 รายไปแล้วนั้น ส่วนที่มีการขนออกจากโกดังไปแล้วกว่าแสนตัน ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ ส่วนที่เหลือแม้เซ็นสัญญาแล้ว แต่ยังไม่มีการขนออกจากโกดัง ต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่
“ข้าวที่ประมูลเซ็นสัญญาแล้ว แต่ยังไม่ได้ขนให้ล้มการประมูลไปเลย ส่วนจะมีปัญหากับเอกชนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ต้องไปเจรจา กระทรวงพาณิชย์ต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองมีอยู่ ส่วนการประมูลครั้งใหม่เชื่อว่าราคาจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา” แหล่งข่าวกล่าว
แนะกำหนดราคาขั้นต่ำก่อนขาย
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การระบายสินค้าเกษตรครั้งนี้เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุด ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ แม้ในอดีตจะมีเรื่องการระบายข้าว แต่ก็เป็นข้าวที่สะสมนานแล้ว แต่ครั้งนี้มีสินค้าเกษตรจำนวนมาก ทั้งมันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าว ดังนั้น การปล่อยสินค้าจำนวนมากขนาดนี้ ต้องมียุทธศาสตร์ ซึ่งได้เสนอว่าความรับผิดชอบตรงนี้ ไม่ควรอยู่ที่ อคส.เพราะไม่มีบุคลากรที่มาวางยุทธศาสตร์ ในการจำหน่ายสินค้าให้ดีได้ ในอดีตเวลาจำหน่ายสินค้า ก็จะใช้กรมการค้าต่างประเทศ
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดราคาระบายสินค้าเกษตรนั้น ตนเห็นว่า ควรจะต้องมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นความลับทางการค้าที่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ส่วนการกำหนดราคาขั้นต่ำจะมีหารือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการระบายสินค้าที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ ตนก็ไม่ติดใจ เพราะการกำหนดราคานั้นต้องขึ้นอยู่ตลาด จังหวะเวลา และความฉลาดในการระบายสินค้า เพราะการระบายสินค้าแต่ละช่วงจะได้ราคาที่แตกต่างกัน
“พรทิวา” ปัดเอื้อประโยชน์เอกชน
นางพรทิวา ยืนยันว่าการระบายสินค้าเกษตรโดยเฉพาะการระบายข้าวไม่ได้ทำผิด ทุกสิ่งทุก อย่างสามารถตรวจสอบได้ และมั่นใจว่าการประมูลขายข้าวให้กับเอกชนมีความโปร่งใส เพราะมีการเปิดประมูลให้แข่งขันราคากันเป็นรายคลังสินค้า หากเห็นว่าชนะการประมูลรายใดเสนอราคาต่ำ ก็จะมีการเจรจาให้เพิ่มราคาประมูลด้วย การดำเนินการทั้งหมดไม่ได้เอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดหนึ่งโดยเฉพาะ
ชี้คนเสียประโยชน์จ้องล้มขายข้าว
นางพรทิวา ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีเอกชนที่เสียประโยชน์ ที่ประมูลข้าวไม่ได้ หากล้มการประมูลข้าวขึ้นมา คนที่ดีใจคือคนที่ประมูลไม่ได้ และถ้าคิดว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไม่ได้ราคา ก็ให้เสนอราคาเพิ่มเติมเข้ามาได้ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ขายของอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ส่วนนักการเมืองคงไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะได้หรือเสียประโยชน์
ขณะเดียวกันยืนยันว่าการประมูลขายข้าวให้กับเอกชนทั้ง 17 ราย เป็นการขายข้าวที่ขาดทุนน้อยที่สุด ตั้งแต่มีการดำเนินการมา ส่วนราคาขายที่ต่ำกว่าราคาตลาดนั้น หากนำราคาข้าวในตลาดขณะนี้ที่ตันละ 1.6 หมื่นบาท ไปเปรียบเทียบกับราคาขายที่กำหนดไว้ต่ำกว่าตันละ 1.4 หมื่นบาท ก็ไม่ใช่ราคาที่ต่ำ เพราะต้องเข้าใจว่าข้าวในโครงการรับจำนำ เป็นข้าวที่เก็บรักษาไว้นาน จึงมีคุณภาพไม่เต็ม 100% จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อในราคาตลาด
สมาคมผู้ส่งออกข้าวหนุน คต.ขายข้าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลจะให้กรมการค้าต่างประเทศ ทำหน้าที่ดูแลการระบายข้าวรัฐตั้งแต่ขั้นการประกาศขาย การเปิดซอง และการเจรจาต่อรอง เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว ประกอบกับมีบุคลากรที่พร้อมทำงานได้ทันที อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงเรื่องที่ระดับนโยบายอาจมีคำสั่งพิเศษ ในการทำหน้าที่ระบายข้าวรัฐ จนทำให้การทำหน้าที่ไม่โปร่งใสซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า การที่รัฐชะลอการระบายขาย 2 ล้านตันออกไป หลังจากที่ผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) แล้วนั้น ส่งผลต่อราคาตลาดทันที โดยราคาในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับราคาตลาดโลก เพราะซัพพลายในตลาดมีน้อย
“ไม่เชื่อว่าการชะลอการประมูลข้าว จะสร้างความเสียหายให้กับการส่งออกภาพรวม เพราะตลาดรอดูการประมูลครั้งนี้ เมื่อมีผู้ประมูลได้จำนวนมาก และมีเงื่อนไขการขนข้าวออกจากโกดังตามเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ที่ชนะประมูลต้องรีบระบายข้าวออกไปผ่านวิธีการต่างๆ ทำให้ ราคาในช่วงที่ผลการประมูลออกมาและมีการเซ็นสัญญาปรับตัวลดลงทันทีตันละ 20 ดอลลาร์” นายชูเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งออกข้าวเดือนพ.ค. จะมีปริมาณมากถึง 8 แสนตัน จากยอดล่าสุด ณ วันที่ 1-22 พ.ค. นี้ ที่ส่งออกแล้ว 577,704 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มากแม้จะน้อยกว่าการส่งออกช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2550 การส่งออกข้าวสูงผิดปกติ
วอนรัฐสรุปขายข้าวโดยเร็ว
แหล่งข่าวจากผู้ส่งออก กล่าวว่า บริษัทส่งออกข้าวที่เซ็นสัญญากับรัฐบาลแล้วอาจได้รับผลกระทบจากที่ต้องจ่ายเงินและทำข้อตกลงกับผู้ซื้อไว้แล้ว แต่ไม่สามารถนำข้าวออกจากโกดังได้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องแก้ปัญหาให้เบื้องต้นต้องคืนเงินให้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไขและต้องหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เร็วที่สุด ในส่วนความเสียหายที่มีการอ้างว่ามีเรือสินค้ารอรับสินค้าแล้ว นั้นไม่เชื่อว่าจะมีจำนวนมากเพราะขั้นตอนหลังการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายข้าวกับรัฐจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือนกว่าจะส่งมอบสินค้าได้
สำหรับราคาข้าวล่าสุด ณ วันที่ 27 พ.ค. ข้าวทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยข้าวหอมมะลิชั้น 1 (07/08) ราคาเอฟโอบี ตันละ 925 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ตันละ 922 ดอลลาร์ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ตันละ 571 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 554 ดอลลาร์ ข้าว 5% ตันละ 541 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 524 ดอลลาร์ ข้าวนึ่ง 100% ตันละ 505 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 578 ดอลลาร์ ข้าวเหนียวตันละ 466 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากตันละ 465 ดอลลาร์
ชี้การเมืองส่งคนกดปุ่ม อคส.
แหล่งข่าวผู้ส่งออกข้าว กล่าวว่า ปัจจุบัน อคส. มีนายนาคม ธีรสุวรรณจักร เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อคส. และมีนายวิวัฒน์ เลาหพูนรังษี เป็นประธานคณะกรรมการ อคส. (บอร์ด อคส.)ซึ่งการให้ อคส.ไปดำเนินการขายข้าว เพราะ อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจ และการเมืองสามารถส่งคนของตัวเองเข้าไปคุมเกมได้ แต่หากเป็นการดำเนินการของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้าราชการ จะทำให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงได้ยาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีความโปร่งใสจริงหรือไม่
เพราะกรมการค้าต่างประเทศ เปิดระบายข้าวในสต็อกครั้งเดียว 1.7 ล้านตันให้กับผู้ส่งออกเพียงรายเดียวมาแล้ว ในสมัยที่นายวัฒนา เมืองสุขเป็น รมว.พาณิชย์ แต่เชื่อว่าก็น่าจะดีกว่าให้ อคส. ดำเนินการ
ก่อนหน้านี้ ในสมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ได้มีการดึงงานระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลจากกรมการค้าต่างประเทศมาให้ อคส.ดูแล ซึ่งในการระบายขณะนั้น ไม่มีผู้อำนวยการ อคส. มีนายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานบอร์ด อคส. และมีระบายข้าวรวม 2.5 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 1 เดือน และทำให้รัฐบาลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ชี้ยึดแนวเดิมขายขาดทุน 2 หมื่นล้าน
สมัยนางพรทิวา ก็ยังคงยึดแนวทางให้ อคส. เป็นผู้รับผิดชอบหากขาย 2 ล้านตัน ราคาตันละ 1.4 หมื่นบาทขึ้นไป โดยคาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โดยทั่วไปการระบายข้าวสารในสต็อกรัฐบาล เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ เพราะเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการระบายข้าว ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แต่นางพรทิวาอาศัยอำนาจในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว มอบหมายให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการ และให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นเพียงกรรมการเท่านั้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ |