นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ ประธานกลุ่มกมลกิจ และเลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการที่ทางกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียออกประกาศเลขที่ 104 ผ่อนปรนให้มีการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ จากเดิมห้ามส่งออกตามประกาศฉบับที่ 93 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 โดยประกาศฉบับใหม่ได้กำหนดโควตาส่งออกข้าวให้กับ 21 ประเทศปริมาณ 1 ล้านตัน ได้แก่ เบอกินาฟาโซ ปริมาณ 24,200 ตัน, แคเมอรูน ปริมาณ 21,700 ตัน, ไอวอรีโคสต์ 144,900 ตัน, อียิปต์ 48,300 ตัน, แกมเบีย 36,250 ตัน, มาลี 24,200 ตัน, โซมาเลีย 24,200 ตัน, ตูนิเซีย 5,550 ตัน,
ซานซิบาร์ 12,100 ตัน, เบนิน 24,200 ตัน, กานา 68,800 ตัน, กินีบิสเซา (Guinea Bissau) 24,200 ตัน, ไลบีเรีย 96,600 ตัน, โมซัมบิก 24,200 ตัน, โตโก 72,400 ตัน, แซมเบีย 24,200 ตัน, ไนจีเรีย 117,100 ตัน, เซเนกัล 141,300 ตัน, Mauritius 15,000 ตัน, Sierra Leone 38,500 ตัน และจิบูตี (Djibouti) 12,100 ตัน
"ประกาศดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกข้าวนึ่งในขณะนี้มีแนวโน้มลดลง หลังจากรัฐบาลอินเดียได้ยกเลิกห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ โดยกำหนดให้โควตาส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ให้กับผู้นำเข้าจาก 20 ประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทย อีกทั้งราคาข้าวนึ่งของอินเดียต่ำกว่าไทยตันละ 50-70 เหรียญสหรัฐ ซึ่งในส่วนของบริษัทก็คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวปีนี้อาจจะลดลง 40% จากปีก่อน" นางสาวกอบสุขกล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลได้ระบายสต๊อกข้าวปริมาณ 2.6 ล้านตัน ส่งผลให้ผู้ส่งออกส่วนหนึ่งถูกลูกค้ากดราคารับซื้อโดยให้เหตุผลว่า การระบายข้าวของไทยเป็นจังหวะเดียวกับที่เวียดนามได้ปรับลดราคาส่งออกข้าวขาวลงเหลือเพียงตันละ 405-410 เหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าข้าวไทยซึ่งมีราคาเฉลี่ย 530 เหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง จากปัจจุบันตัวเลขการส่งออกข้าว 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) มีปริมาณ 2.902 ล้านตัน ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีปริมาณการส่งออก 4.147 ล้านตัน
การส่งออกข้าวนึ่งในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 373.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.26% โดยตลาดสำคัญที่มีการส่งออกลดลง อาทิ แอฟริกาใต้ 10.99% เบนิน 75% รัสเซีย 39% เบลเยียม 1.3% อังกฤษ 10% และแคเมอรูน 76% ส่วนตลาดที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ไนจีเรีย 466% เยเมน 55% ซาอุดีอาระเบีย 3,654% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 124% สเปน 36%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ |