นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการติดตามปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง พบว่าตัวเลขรับจำนำเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างผิดสังเกตเพราะถึงวันที่ 21 พฤษภาคม มีข้าวเปลือกเข้าสู่โครงการรับจำนำแล้วทั้งสิ้น 3.26 ล้านตัน จากเป้าหมาย 4 ล้านตัน โดยเฉพาะส่วนอนุมัติเพิ่ม 1.5 ล้านตัน ซึ่งเพิ่งจะมีการอนุมัติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม จากปลายเดือนเมษายนมีการรับจำนำไปแล้ว 2.6 ล้านตัน เท่ากับว่าระยะเวลา 20 กว่าวันมีข้าวเข้าสู่โครงการกว่า 600,000 ตัน ทั้งที่หลายจังหวัดภาคกลางที่ปลูกข้าวนาปรังยังไม่มีการเก็บเกี่ยว
"ปัญหาการรับจำนำข้าวนับวันจะยิ่งสะสมและหมักหมมจนยากจะแก้ไข เพราะการที่รัฐบาลมีนโยบายให้รับจำนำทุกปีทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งตัวชาวนา โรงสี เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ส่งออก เห็นช่องว่างช่องโหว่ฉวยโอกาสแสวงผลประโยชน์ แม้แต่ชาวนาเองบางคนก็ยอมตกเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่นการยอมให้สวมสิทธิ์ใช้ชื่อตัวเองนำข้าวไปจำนำโดยแลกกับเงินไม่กี่ร้อยกี่สิบบาท" นายประสิทธิ์กล่าวและว่า
จึงอยากให้ชาวนารักษาผลประโยชน์ของตัวเองให้มากที่สุด เพราะแต่ละปีรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาปีละมหาศาล หากไม่มีการจำนำยังไม่เห็นวิธีอื่นใดที่จะช่วยชาวนาให้ได้รับราคาสูงกว่าวิธีนี้
อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่ได้คิดจะเสนอเพิ่มปริมาณการรับจำนำอีก เนื่องจากเพิ่งจะเสนอเพิ่มและได้รับอนุมัติ 1.5 ล้านตันไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม คงจะรอดูอีกสักระยะหนึ่งว่าจะเต็มโควตา 4 ล้านตันเมื่อใดจึงค่อยคิดอีกที เพราะหากเสนอไปบ่อยมากจะถูกมองว่าชาวนาเรียกร้องมากเกินไป
แหล่งข่าวในวงการโรงสีข้าว กล่าวว่าปริมาณข้าวเปลือกนาปรังที่เข้าสู่โครงการจำนำเร็วผิดปกติ ทั้งที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังภาคกลางหลายจังหวัดยังไม่ได้เก็บเกี่ยวเช่นสระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพราะว่าปีนี้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) จากปกติที่ชาวนาจะปลูกข้าวหอมมะลิปี มีนาปรังบ้างแต่ไม่มากแต่ปีนี้พบว่ามีการปลูกข้าวเปลือกเจ้านาปรังมากขึ้น ขณะเดียวกันได้มีโรงสีภาคกลางขึ้นไปกว้านซื้อราคาตันละ 8,000 บาท แล้วนำมาสวมสิทธิ์เกษตรกรเข้าโครงการจำนำตันละ 11,800 บาท ฟันกำไรตันละ 3,000 กว่าบาท
"ปัญหานี้ทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่ชาวนา พ่อค้า โรงสี เพราะข้าวเปลือกเจ้าโรงสีภาคอีสานจะจำนำไม่ได้เพราะปกติภาคอีสานจะไม่ปลูกข้าวเปลือกเจ้า และการจำนำห้ามข้ามเขต ถ้าโรงสีอีสานจำนำข้าวเปลือกเจ้าเท่ากับว่าข้ามเขต ดังนั้นโรงสีภาคกลางจะใช้วิธีขึ้นมากว้านซื้อแล้วสวมสิทธิ์เกษตรกรโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐให้ความร่วมมือในการนำชื่อเกษตรกรไปสวมสิทธิ์"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การกว้านซื้อข้าวเปลือกของโรงสีภาคกลาง นอกจากจะทำให้เกษตรกรเสียผลประโยชน์แล้ว ในปีนี้มีความเป็นห่วงว่าข้าวหอมมะลิจะมีการปลอมปนข้าวขาว เพราะว่าแหล่งปลูกข้าวเปลือกเจ้านาปรังที่ชาวนาปลูกมีทั่วพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เช่นจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เหล่านี้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังกันทั้งสิ้น
นายมณฑล เจียมเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี2552 มีทั้งสิ้น 12.4 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 8.4 ล้านตัน เทียบกับปี 2551ลดลงทั้งพื้นที่และผลผลิต กล่าวคือปี 2551 มีพื้นที่เพาะปลูก 12.8 ล้านไร่ ผลผลิต 8.8 ล้านตัน อย่างไรก็ดีแม้พื้นที่ปลูกโดยรวมลดลงแต่กลับพบว่าพื้นที่ปลูกนาปรังภาคอีสานเพิ่มขึ้นจาก 1.26 ล้านไร่ปี 2551 เป็น 1.46 ล้านไร่ปีนี้ เพิ่มขึ้น 200,000 ไร่หรือ15% พื้นที่ภาคกลางลดลง 8% ภาคเหนือลดลง 2%
"แม้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังภาคอีสานจะเพิ่มแต่เชื่อว่าปัญหาการปลอมปนระหว่างข้าวขาวและข้าวหอมมะลิตั้งแต่การผลิตจะไม่เกิดขึ้นเพราะเป็นคนละฤดูกัน"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ |