นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบราคาประกันข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 โดยจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาอีกรอบในวันที่ 29 ก.ค.นี้
ราคาประกันข้าวที่กำหนดออกมา คำนวณจากต้นทุนการผลิตรวมกับค่าขนส่งตันละ 200 บาท และบวกกำไรให้เกษตรกร 30-40% พร้อมกับกำหนดให้เกษตรกรแต่ละรายนำข้าวไปเข้าโครงการประกันได้รายละไม่เกิน 16 ตัน ซึ่งคำนวณจากเจ้าของพื้นที่ที่มีข้าวไม่เกิน 40 ไร่ คิดอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนไร่ละ 400 กก. โดยจะมีเกษตรกรซึ่งมีที่นาไม่เกิน 40 ไร่ คิดเป็น 80% ของจำนวนทั้งหมด สำหรับรายละเอียดราคาประกันที่ความชื้น 15% (อ่านตารางประกอบ)
ในส่วนของข้าวนาปรังคิดกำไรให้ 30% เนื่องจากเห็นว่าการทำนาปรังทำได้ปีละหลายครั้ง และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของน้ำอยู่แล้ว ซึ่งราคาประกันจะลดลงมาตามสัดส่วนของสูตรคำนวณหักค่าความชื้น
“เมื่อเกษตรกรนำข้าวไปขายได้ต่ำกว่าราคาประกัน เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล คิดจากส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาราคาอ้างอิง ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ซึ่งจะคิดมาจากราคาตลาดในช่วงระยะเวลานั้น โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใน 15 วัน“ นายธีระกล่าว
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า จากราคาประกันข้าวดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสม แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ราคาตลาดได้ในขณะนี้ โดยต้องพิจารณาราคาตลาดโลกอีกครั้ง ซึ่งโรงสีพร้อมรับซื้อข้าวจากเกษตรกรทั้งหมดและจะไม่มีการฮั้วราคาระหว่างเกษตรกรกับโรงสี เพราะปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงสีมีถึง 120 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 3 เท่าของผลผลิตข้าวของไทย ส่งผลให้มีการแข่งขันรับซื้อข้าวสูง
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาราคาข้าวตกต่ำมากช่วงผลผลิตเข้าสู่ตลาด รัฐอาจต้องปรับวิธีการ เช่น ประกาศเพิ่มราคาประกันในเดือนถัดไปตันละ 300 บาท ส่งผลให้ข้าวบางส่วนออกสู่ตลาดช้าลง ในขณะที่ผู้ส่งออกมีระยะเวลาการส่งมอบที่ชัดเจนจะล่าช้าไม่ได้ ทำให้ราคาข้าวในตลาดไม่ตกต่ำมากนัก
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ที่ปัจจุบันทำได้เพียง 35% แต่ข้าวฤดูกาลใหม่จะออกมาอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หากขึ้นทะเบียนไม่ทันโครงการประกันราคาของรัฐบาลเละเป็นโจ๊กอย่างแน่นอน และอีกปัญหาที่จะตามมา กรณีเกษตรกรมีที่นาไม่เกิน 40 ไร่ แต่ผลิตข้าวได้มากกว่า 400 กก.ต่อไร่ ทำให้ผลผลิตเกินเพดาน 16 ตันที่กำหนดไว้ ข้าวที่เหลือเข้าประกันราคาไม่ได้ เกิดความวุ่นวายอย่างแน่นอน“ นายชาญชัย กล่าว
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า หากเกษตรกรขายข้าวได้ตามราคาที่ประกาศเอาไว้จริงก็พอใจ แต่รัฐบาลต้องหาแนวทางที่รัดกุมเพื่อให้เงินทุกบาทตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่รั่วไหล
“ชาวนารู้สึกพอใจราคาประกันที่รัฐบาลกำหนด เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตลดลงมาพอสมควร อย่างปุ๋ยยูเรียจากกระสอบละ 1,000 บาท เหลือกระสอบละ 600 บาท ขณะที่ปัญหาที่เกรงว่าเมื่อรัฐบาลประกันราคาให้แล้ว ชาวบ้านจะแห่มาทำนามากขึ้น เพราะมีหลักประกันที่รัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างให้นั้น ผลผลิตข้าวคงจะไม่เพิ่มขึ้นจนล้นตลาด เพราะพื้นที่ทำนาขณะนี้มีอยู่อย่างจำกัด ไม่สามารถขยายได้มากไปกว่านี้" นายประสิทธิ์ กล่าว
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ราคาอ้างอิงข้าวที่จะใช้คำนวณการชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรจะประกาศทุก 15 วัน แต่ในกรณีที่ราคาในตลาดผันผวนมาก มีความเป็นไปได้ที่จะประกาศเร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจนำข้าวออกจำหน่ายในตลาดได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
|